สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

กรณีการบินไทย แก้อย่างไรให้ตรงประเด็น

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 17 พ.ค. 2563 เวลา 17:30 น.
 2296
UploadImage

กรณีการบินไทย แก้อย่างไรให้ตรงประเด็น
"เราจะไม่ทิ้งสหกรณ์ใดไว้ข้างหลัง"
 
เรียนเพื่อนพ้องสหกรณ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะ ๘๒ สหกรณ์ที่นำเงินเหลือจากการให้สมาชิกกู้ จำนวน ๔ หมื่นล้านไปลงทุนซื้อหุ้นกู้บริษัท การบินไทย จำกัด เพื่อนำผลประโยชน์มาแบ่งปันในรูปของเงินปันผลและจัดการเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิกสหกรณ์ไม่น้อยกวา ๓ ล้านคน ซึ่งการลงทุนของสหกรณ์เราถือว่าเราทำตามความในมาตรา ๖๒ (๓) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๒ หรือตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด กล่าวคือ “เงินของสหกรณ์นั้น สหกรณ์อาจลงทุนได้ โดย ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ” ซึ่งการลงทุนดังกล่าวนี้ถือเป็นการช่วยประเทศชาติของสหกรณ์ช่วย ดีกว่าปล่อยให้ทุนต่างชาติเข้ามาครอบงำรัฐวิสาหกิจไทย เมื่อเกิดวิกฤติปัญหาหนี้สินของการบินไทย คนสหกรณ์อย่าเพิ่งวิตกจนเกินเหตุ

ผมขอยกตัวอย่างธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยที่มีปัญหาหนี้สินเมื่อปี ๔๐ วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” บริษัท TPI มีหนี้กู้เงินสูงกว่า ๑๓๓,๖๔๓.๘๒ ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่สูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น โดยมีเจ้าหนี้รวมกันทั้งสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศมากกว่า ๑๕๐ ราย

เมื่อบริษัททีพีไอ กลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นวิกฤตการณ์ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมีความพยายามเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยหนี้ภายใต้การนำของธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ต่างประเทศกับนายประชัย  เลี่ยวไพรัตน์ ผู้ก่อตั้งทีพีไอ แต่ก็ไม่สามารถจะหาข้อยุติได้ ขณะที่มีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจังเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศจากการถูกยึดครองของต่างชาติ แต่จนแล้วจนรอด ความพยายามไกล่เกลี่ยหนี้ของทีพีไอก็ไม่สามารถจะคืบหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ไม่ว่ารัฐบาลในขณะนั้น“ชวน ๒”จะใช้ช่องทางใด ในที่สุดในเดือน ส.ค.๒๕๔๐ ทีพีไอจึงประกาศหยุด “พักชำระหนี้” และตัดสินใจนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู กิจการตามกฎหมายล้มละลาย
รัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะช่วยไกล่เกลี่ย และร่วมมือกับศาลยุติธรรมในการแก้ปัญหาลูกหนี้รายนี้อย่างบูรณาการเบ็ดเสร็จ เนื่องจากเห็นว่าทีพีไอเป็นองค์กรขนาดใหญ่ หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ย่อมต้องล้มละลายและส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ และคนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย พนักงาน และครอบครัว ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่มีความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ และด้วยการแก้ปัญหาของรัฐบาล และกระบวนการยุติธรรมของไทย เมื่อศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่ง ณ วันที่ ๑๑ ก.ค.๒๕๔๖ ให้กระทรวงการคลังทำหน้าที่เป็นผู้บริหารแผน ด้วยระยะเวลาเพียง ๒ ปี นับแต่ผู้บริหารแผนเข้าไปจนถึงสิ้นปี ๒๕๔๘ สถานะทางการเงินของทีพีไอ จากที่ใกล้จะล้มละลายได้กลับมามีความแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง โดยสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก ๑๓๐,๘๒๕ ล้านบาท เป็น ๑๕๒,๖๗๖ ล้านบาท หนี้สินเดิม ๑๒๘,๗๘๗ ล้านบาท ลดลงเหลือ ๕๑,๙๖๖  ล้านบาท และการขาดทุนสะสมที่มีอยู่ ๘๙,๓๔๗ ล้านบาท ถูกเปลี่ยนเป็นกำไรสะสม ๒๙,๕๓๘ ล้านบาท นอกทีพีไอจากจะเรียกภาพพจน์และความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้แล้ว ยังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ที่เหลืออยู่ได้เร็วขึ้นด้วย ทันทีที่ได้รับความเชื่อถือจากสถาบันการเงิน

ทีพีไอกลับมาเป็นบริษัทที่มีฐานะแข็งแกร่ง พนักงานมีความมั่นคง เจ้าหนี้ได้รับเงินคืน และผู้ถือหุ้นมีความเชื่อมั่นอีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ ๒๖ เม.ย. ๒๕๔๙ ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งให้ทีพีไอออกจากการฟื้นฟูกิจการ

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยก็หวังว่า “การบินไทย” จะดำเนินการอย่างเดียวกับทีพีไอ ซึ่งเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในการแก้ปัญหาระดับประเทศมาแล้ว สหกรณ์ทั้ง ๘๒ แห่งและสมาชิกสหกรณ์ที่ลงทุนช่วยชาติด้วยการซื้อหุ้นกู้การบินไทยจึงอย่าไปวิตกจนเกินเหตุ แม้จะกระทบบ้างก็เพียงเล็กน้อยและระยะสั้น ๆ เท่านั้น

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด จึงขอเชิญสหกรณ์ทั้ง ๘๒ สหกรณ์ร่วมหารือเตรียมความพร้อมกันในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น ณ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) 

 
โดยรับชมการถ่ายทอดสด ผ่านเพจ Facebook สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เวลา ๐๙.๐๐ น.เป็นต้นไป
 
ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม
ประธานคณะกรรมการดำเนินการ
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.)