สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทความพิเศษ : ​หลักธรรมาภิบาลสหกรณ์

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 25 มี.ค. 2568 เวลา 10:08 น.
 68
UploadImage

หลักธรรมาภิบาลสหกรณ์
 
การกำกับดูแลองค์กรที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล นับเป็นหลักการทำงานที่ดีอย่างหนึ่ง เนื่องจากจะได้รับการยอมรับ และเชื่อถือจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม


UploadImage

การบริหารจัดการองค์กรที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ประกอบด้วย
1) หลักนิติธรรม หมายถึง สหกรณ์ได้กำหนดข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ โดยคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมของทุกฝ่ายในสหกรณ์ และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติด้วยความเที่ยงธรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม
2) หลักคุณธรรม หมายถึง การยึดมั่นความถูกต้องดีงาม ทุกฝ่ายในสหกรณ์ปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเสมอภาค ประพฤติปฏิบัติงานตามจรรยาบรรณที่ร่วมกันกำหนด และส่งเสริมสนับสนุนยกย่องผู้กระทำความดี รวมถึงการส่งเสริมให้มีการพัฒนาทุกฝ่ายในสหกรณ์อย่างเท่าเทียมกัน
3) หลักความโปร่งใส หมายถึง การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยพัฒนาวิธีการดำเนินงานของสหกรณ์ที่โปร่งใส กำหนดขั้นตอนการให้บริการที่ชัดเจน มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรทำให้เกิดความโปร่งใสกับสังคมภายนอก
4) หลักการมีส่วนร่วม หมายถึง สหกรณ์เปิดโอกาสให้สมาชิก กรรมการ และฝ่ายจัดการมีส่วนในการร่วมรับรู้ ร่วมแสดงความคิดเห็น การตัดสินใจทั้งในด้านการบริหารการจัดการและการพัฒนาสหกรณ์เพื่อสร้างสรรค์และจรรโลงความผาสุกของส่วนรวม รวมถึงร่วมรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของสหกรณ์ด้วย
5) หลักความรับผิดชอบ หมายถึง การที่ทุกฝ่ายในสหกรณ์ตระหนักในสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบต่อหน้าที่และผลจากการกระทำของตน ตลอดจนเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้มีส่วนร่วมในสหกรณ์ รวมทั้งไม่เพิกเฉยต่อปัญหาสาธารณะและการช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อสังคม
6) หลักความคุ้มค่า หมายถึง สหกรณ์มีการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีระบบการควบคุมภายในที่ดี มีกิจกรรมหรือแผนงานที่ส่งเสริม สนับสนุน การประหยัดลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ส่งเสริมระบบสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกฝ่ายในสหกรณ์ หรือสังคมภายนอก
ธรรมาภิบาลในสหกรณ์ หมายถึง การบริหารกิจการของสหกรณ์ให้เป็นไปอย่างซื่อสัตย์ โปร่งใสมีความรับผิดชอบ สร้างการมีส่วนร่วม และมีการใช้กระบวนการบริหารจัดการ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผล คุ้มค่า และโดยประหยัด เป็นผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม เพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินงานประสบความสำเร็จวัตถุประสงค์อย่างมั่นคง ส่งผลให้สหกรณ์เป็นที่เชื่อถือและยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ความจำเป็นที่ต้องนำธรรมาภิบาลมาใช้ในสหกรณ์
ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ทุนเป็นปัจจัยสำคัญของการเจริญเติบโตของธุรกิจ แต่ถ้าธุรกิจนั้นจะอาศัยเพียงทุนของตนเองเพียงอย่างเดียวก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตแข่งกับธุรกิจอื่นได้ ต้องอาศัยแหล่งเงินทุนจากภายนอกด้วย ได้แก่สถาบันการเงินและตลาดทุน แต่การจะเข้าถึงแหล่งทุนภายนอกได้ธุรกิจนั้นจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ลงทุนหรือสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมว่าหุ้นที่ลงทุนหรือเงินที่ให้กู้ยืม จะไม่สูญหายและได้ผลตอบแทนคุ้มค่า
สหกรณ์เป็นธุรกิจรูปแบบหนึ่ง ก็ต้องได้รับความเชื่อถือจากสมาชิกและผู้มีส่วนได้เสียเป็นสำคัญเพราะถ้าขาด “ความเชื่อถือ” การดำเนินธุรกิจคงประสบปัญหาและล้มลงในที่สุด ส่วนความเชื่อถือ จะสร้างได้อย่างไรนั้น คำตอบสั้นที่สุดคือ สหกรณ์ต้องมี “ธรรมาภิบาล” ในการประกอบธุรกิจ เพราะการที่สหกรณ์ประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล จะช่วยให้สหกรณ์สามารถดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดผลดีกับมวลสมาชิก


UploadImage

ประโยชน์ที่สหกรณ์ได้รับจากการมีธรรมาภิบาล
เมื่อสหกรณ์ยึดถือ “ธรรมาภิบาล” ในการดำเนินธุรกิจ ผลที่ได้รับกลับมา คือ “ความเชื่อถือ” จากสมาชิกสหกรณ์ ประชาชนทั่วไป สถาบันการเงิน สังคม และคู่ค้า ฯลฯ เพราะทุกส่วนที่มีส่วนได้เสียย่อมต้องการให้สหกรณ์ค้าขายด้วยมีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส มีความรับผิดชอบ มีความยุติธรรม มีจริยธรรม คุณธรรม สินค้า ที่ผลิตเป็นสินค้าที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ค้ากำไรเกินควร และไม่เอาเปรียบต่อสมาชิกและประชาชนทั่วไปการดำเนินการลักษณะนี้สหกรณ์จะเจริญรุ่งเรือง เป็นที่เชื่อถือของคู่ค้าและสมาชิกสหกรณ์ สหกรณ์สามารถพึ่งพาตนเองได้ในยามวิกฤต และในยามปกติ รวมทั้งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ไม่ว่าสถาบันการเงินใดต้องการให้สินเชื่อ และให้ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง เพราะปล่อยสินเชื่อให้แล้วปลอดภัยไม่ต้องกลัวสูญ เนื่องจากสหกรณ์มีความรับผิดชอบและธุรกิจดำเนินไปด้วยดี ผลที่ได้รับกลับมาของสหกรณ์ พอสรุปได้ดังนี้
1. เพิ่มความน่าเชื่อถือของกิจการสหกรณ์ สหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือมีธรรมาภิบาล จะมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่สนองความคาดหวังหรือความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล จะส่งผลให้สหกรณ์ได้รับความเชื่อถือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (สมาชิก,ประชาชนทั่วไป คู่ค้า,สถาบันการเงิน)
2. ความสามารถระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สถาบันการเงินและแหล่งทุนต่างๆ จะให้ความเชื่อมั่นกับสหกรณ์ ที่มีธรรมาภิบาล และพร้อมจะให้การสนับสนุนด้วย เพราะความน่าเชื่อถือที่สหกรณ์สั่งสมไว้ จะทำให้ผู้ให้การสนับสนุนมั่นใจว่าเงินที่ให้กู้ยืมจะไม่สูญหาย
3. มีเจ้าหน้าที่สหกรณ์ที่ดี มีความสามารถ และรักองค์กร ตามหลักธรรมาภิบาล สหกรณ์ที่มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่สหกรณ์และให้ความสำคัญกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ จะทำให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์รักองค์กร และสามารถดึงดูดบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถให้ความสนใจเข้ามาร่วมงานกับองค์กรตลอดไป
4. เพิ่มการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการดำเนินงานของสหกรณ์ สหกรณ์ที่มีแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อสมาชิก ตระหนักและให้ความสำคัญต่อความพึงพอใจของสมาชิกเป็นหลัก ด้วยการผลิตสินค้าหรือให้บริการแก่สมาชิกโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความคุ้มค่าที่สมาชิกจะได้รับจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ อันจะนำไปสู่การเพิ่มการมีส่วนร่วมของสมาชิกและการขยายธุรกิจในอนาคต
5. เพิ่มโอกาสในการสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน สหกรณ์ที่มีระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพส่งผลให้สหกรณ์ได้รับความเชื่อถือ ผู้มีส่วนได้เสีย (สมาชิก,ประชาชนทั่วไป,คู่ค้า,สถาบันการเงิน) และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ อยากให้การสนับสนุนและให้การตอบสนองที่ดี เป็นโอกาส ที่จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและนำกิจการไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
6. การยอมรับของสังคมในการดำเนินธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวมของสหกรณ์ที่ผู้มีส่วนได้เสีย (สมาชิก,ประชาชนทั่วไป,คู่ค้า,สถานบันการเงิน) ความคาดหวังหรือรับรู้ มีผลอย่างมากต่อการยอมรับของสังคมและการเติบโตของสหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจ ในทางตรงกันข้ามสหกรณ์ที่จะละเลย ไม่เอาใจใส่ ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากจะถูกต่อต้านหรือมีความขัดแย้งกับสังคมและส่วนรวมแล้วหากสหกรณ์ประสบภาวะวิกฤตร้ายแรง โอกาสที่จะได้รับความเห็นใจ การให้อภัย หรือโอกาส ในการแก้ตัวจากชุมชนและสังคม คงเป็นเรื่องที่คาดหวังได้ยาก
7. เพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่สหกรณ์ ท่ามกลางกระแสของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในยุคโลกาภิวัฒน์ มีโอกาสสูงมากที่จะนำการไปสู่ความเสี่ยงใหม่ ๆ ซึ่งยากจะคาดเดา การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือมีธรรมาภิบาล มาตรการเหล่านี้จะช่วยป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่สหกรณ์และลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจให้น้อยลง


UploadImage
 ที่มา : https://cmpccoop.com/?p=7941