สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

กฎกระทรวง : สหกรณ์ ทิศทางในอนาคต

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 20 ต.ค. 2565 เวลา 15:39 น.
 1335
UploadImage


กฎกระทรวง : สหกรณ์ ทิศทางในอนาคต
 
ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม
ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
 
กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ฉบับที่ ๒ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นั้น กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีคามเห็นว่า กฎกระทรวงดังกล่าวไม่สอดคล้องต่อการดำเนินกิจการของสหกรณ์ในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะในประเด็น ห้ามบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกมาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของสมาชิก เพราะเป็นจำกัดสิทธิของสมาชิกและประชาชน โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่า ขณะที่สหกรณ์ยังไม่เติมโด ไม่แข็งแรง กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่เคยช่วยเหลือสหกรณ์เลย แต่พอสหกรณ์เติมโดก้าวหน้า กลับมากำหนดกติกาตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลังบัญชามา เพราะเขาไม่อยากให้เราเติบโตหรือเปล่า หรือเพื่อปกป้องธนาคารและสถาบันการเงินอื่นหรือไม่ หรือเพราะกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่มีความสามารถในขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานตามที่พระบิดาวางไว้หรือเพราะไร้ปัญญาที่จะกำกับดูแลสหกรณ์ให้มั่นคงยั่งยืนตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนับสนุนส่งเสริมกิจการสหกรณ์มาตลอดกระนั้นหรือ
นี่คือส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับฟังมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ในแง่มุมของกฎหมายมีประเด็นที่น่าสนใจสองประการด้วย กล่าวคือ ประการที่หนึ่ง การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้ แม้จะได้รับอนิสงจาก “พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒” ซึ่งระบุเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ว่า “เพื่อการพัฒนาและการสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิกให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเกิดประโยชน์ต่อระบบสหกรณ์ของประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว” ก็ตาม แต่การออกฎกระทรวงดังกล่าวมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามความในมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๗ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของประชาชนมากกว่าที่ “พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓)” ให้อำนาจไว้ กล่าวคือใน “มาตรา ๘๙/๒ (๔) การให้กู้และการให้สินเชื่อ” แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) มาตรา ๒๖ ก็มิได้กล่าวถึง “การค้ำประกัน” แต่ประการใด ประกอบกับ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔๖ (๖) บัญญัติให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ได้ดังต่อไปนี้ “ให้กู้ ให้สินเชื่อ ให้ยืม ให้เช่า ให้เช่าซื้อ โอน รับจำนองหรือรับจำนำซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของสมาชิก” ก็มิได้กำหนดเรื่อการค้ำประกันไว้แต่ประการใด คงแกล่าวแต่เฉพาะการรับจำนองหรือรับจำนำซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของสมาชิก ซึ่งก็มิได้ระบุว่าจะเป็นทรัพย์สินของสมาชิกเท่านั้น จึงกล่าวได้วาการค้ำประกันสมาชิกผู้กู้ยืมหาจำเป็นต้องเป็นสมาชิกด้วยกันไม่ เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้บุคคลภายนอกมาค้ำประกันสมาชิกแต่อย่างใด หากพิจารณาว่าถ้าผู้คำประกันเป็นบิดา มารดา พี่น้องเพื่อนพ้องของสมาชิกสหกรณ์ที่ได้ตกลงใจเข้าผูกพันค้ำประกันหนี้เงินกู้ให้สมาชิก และกรรมการดำเนินการสหกรณ์เห็นว่าบุคคลนั้นน่าเชื่อถือ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไปห้ามบุคคลภายนอกเข้าค้ำเงินกู้ยืมของสมาชิก เนื่องจากสอดคล้องกับเหตุผลการตราพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) ที่ว่า “เพื่อการสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิก” แต่หากรรมการดำเนินการสหกรณ์ พิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือบุคคลภายนอกด้วยความประมาทจนทำให้สหกรณ์เสีหาย กรรมการดำเนินการสหกรณ์ผู้นั้นก็ต้องรับผิดต่อสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสฟกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๒ มารา ๒๒ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๑๒ อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม โดยที่มาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการออกกฎกระทรวงและระเบียบ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) ใช้บังคับคือวันที ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ดังนั้น การออกกฎกระทรวงดังกล่าวจึงอยู่ในบังคับของมาตรา ๒๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ มีสาระสำคัญว่า “กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องออกกฎ เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าว เป็นอันสิ้นผลบังคับ” ทั้งไม่ปรากฏว่า เมื่อไม่สามารถดำเนินการออกฎกระทรวงได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) รัฐมนตรีก็มิได้รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ประกอบกับไม่ปรากฎว่าคณะรัฐมนตรีไม่เคยมีมติขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลาสองปีดังกล่าว ตามความในมาตรา ๒๒ วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๒ (โดยอนุโลม)
ดังนั้น โดยสภาพทางกฎหมาย กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ฉบับที่ ๒ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีจึงไม่มีผลบังคับใช้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบออกไป จะเป็นการทำให้นายกรัฐมนตรี เสียหาย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๒ และหากมาจริง ๆ ก็คงต้องดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรอศาลปกครองกันต่อไป ทั้งเพื่อความถูกต้องของธรรมาภิบาลของประเทศ

................................................................