สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทความ เรื่อง “วิธีการสหกรณ์กับเศรษฐกิจชุมขน ในพื้นที่กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 3 สำนักงานสหกรณ์ จังหวัดอำนาจเจริญ”

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 26 ส.ค. 2565 เวลา 11:01 น.
 821
UploadImage

“วิธีการสหกรณ์กับเศรษฐกิจชุมขน ในพื้นที่กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 3 สำนักงานสหกรณ์  จังหวัดอำนาจเจริญ”
 
วิธีการสหกรณ์
          วิธีการสหกรณ์  คือ  การร่วมแรง  ร่วมกำลัง  ร่วมใจ  ร่วมทรัพย์  ด้วยความซื่อสัตย์  เสียสละ  สามัคคี  และมีวินัย  เพื่อให้ถึงอุดมการณ์สหกรณ์ที่ว่า  “ความร่วมแรงร่วมใจ  ของมวลสมาชิก จะนำพาให้ทุกคน แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคม สู่การกินดีอยู่ดี  บนพื้นฐานการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”

เศรษฐกิจชุมชน
          กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 3 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ  รับผิดชอบกำกับแนะนำสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่อำเภอปทุมราชวงศา  อำเภอพนา และอำเภอชานุมาน สถาบันเกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตร สมาชิกสหกรณ์ เกือบทั้งหมดประกอบอาชีพทำนา ปลูกมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และยางพารา กับเลี้ยงสัตว์ตามวิถีชุมชนคนอีสาณ  สินค้าส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาคนกลางในการจำหน่าย และรวบรวม ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับชุมชนทั่วไป ทำให้ไม่มีเสถียรภาพด้านราคา เพียงพอ การผลิตก็ต้องพึ่งพาธรรมชาติ สมาชิกส่วนใหญ่จึงประสบปัญหาขาดทุน
          ในการเข้าร่วมประชุมกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ส่งเสริมเกษตรกรพนา  จำกัด  และสหกรณ์อื่น เพื่อร่วมรับฟังข้อคิดเห็นและสภาพปัญหา ได้รับการสะท้อนจากสมาชิกว่า ไม่สามารถชำระหนี้ได้  เนื่องจากเงินที่กู้มาลงทุนทำการเกษตรตามแผน ขาดทุน  ทำให้ไม่มีรายได้
          กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 3 จึงเชิญผู้แทนสหกรณ์ในพื้นที่ ร่วมหารือ  เพื่อกำหนดแนวทางในการส่งเสริมอาชีพสมาชิกและดูแลราคาสินค้าเกษตร  โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจชุมชน  คือ สร้างตลาดผู้บริโภคในพื้นที่ สมาชิกผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการ  สหกรณ์รวบรวมมาแปรรูป และหรือจำหน่าย  รวมถึงการจัดหาปัจจัยการผลิตร่วมกัน  เพื่อลดต้นทุนการผลิต  ให้สามารถแข่งขันได้  พร้อมกับมอบหมายให้แต่ละสหกรณ์  ในพื้นที่ รับผิดชอบสินค้าเกษตรหลัก ๆ กับเป็นแหล่งกระจายสินค้าการเกษตรในชุมชน  ประกอบด้วย
          สหกรณ์ส่งเสริมเกษตรกรพนา จำกัด รับผิดชอบ ในการรวมรวมสุกรมีชีวิตที่ สมาชิกทุกสหกรณ์เลี้ยง ภายใต้การวางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคในพื้นที่  โดยการขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงทุกรายและจัดลำดับการเลี้ยงให้มีสินค้าต่อเนื่องตลอด จัดหาปัจจัยการผลิตร่วมกันเพื่อให้ได้อาหารราคาถูก และสร้างโรงชำแหละ  เพื่อผลิตเนื้อหมูชำแหละจำหน่ายให้สมาชิกบริโภค โดยกระจายสินค้าถึง สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “ต้องการสินค้าเกษตรปลอดภัย ให้ไปสหกรณ์”
          กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปทุมราชวงศา รับผิดชอบ รวมรวมโคมีชีวิตจาก เกษตรกรสมาชิกในพื้นที่ สร้างโรงชำแหละ ห้องเย็นบ่มเนื้อ อุปกรณ์การตลาดอื่น  เพื่อผลิตเนื้อวัวชำแหละจำหน่ายให้สมาชิกสหกรณ์และผู้บริโภคทั่วไป  ภายใต้แนวคิดเดียวกันกับเรื่องสุกร
          สหกรณ์นิคมนาหว้าใหญ่ จำกัด  มีกลุ่มผักอินทรีย์บ้านโคกพระเป็นแหล่งผลิตผักปลอดภัย จำหน่ายในพื้นที่ ผ่านสหกรณ์ และตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์ บริเวณใกล้ปั้มน้ำมัน

บทสรุป
          การนำแนวคิดวิธีการสหกรณ์  มาผนวกรวมกับเศรษฐกิจชุมชน  ทำให้สินค้าของเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์  มีตลาดในท้องถิ่น  สมาชิกมีเสถียรภาพด้านราคา ผู้บริโภค  มีความมั่นใจในผลผลิต  จึงเป็นวิถีการแก้ไขปัญหา  ราคาสินค้าเกษตร โดยวิธีการ เศรษฐกิจชุมชนได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าทุกชุมชนดำเนินการได้อย่างครอบคลุมก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างกว้างขวาง  ยั่งยืน  ทำให้เศรษฐกิจของชาติมั่นคง ตลอดไป
 
โดย...นายสวน  เพ่งพิศ  นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ
ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 3