สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทความ "การพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง"

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 24 ส.ค. 2565 เวลา 11:22 น.
 3413
UploadImage

การพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง
 
เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตลอดจนให้เกิดการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ได้กำหนดไว้ กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่จึงต้องดำเนินการตามภารกิจต่าง ๆ เพื่อรักษาระดับชั้นและรักษามาตรฐานตลอดจนผลักดันให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สามารถดำเนินงานผ่านเกณฑ์มาตรฐานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่พึ่งของสมาชิกได้อย่างยั่งยืน โดยจะมีข้อกำหนดและมีการประเมินผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. รักษาระดับชั้นสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร
การประเมินผลการดำเนินงานตามเกณฑ์การจัดระบบชั้นของสหกรณ์ ประกอบด้วย 4 ด้าน ดังนี้

1.ความสามารถในการให้บริการสมาชิก
จะเป็นการประเมินว่าสหกรณ์มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บริการแก่สมาชิกด้านต่างๆ เช่น การรับฝากเงิน การให้เงินกู้ การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และการรวบรวมผลผลิตมีสัดส่วนต่อสมาชิกทั้งหมดมากน้อยเพียงใด

4 คะแนน มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70
2 คะแนน ระหว่างร้อยละ 60 – 69
0 คะแนน น้อยกว่าร้อยละ 60

2.ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
เป็นการประเมินจากอัตราส่วนทางการเงินของสหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจและการบริหารงานของสหกรณ์โดยพิจารณาจาก (1)อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (2)อัตราผลตอบแทนต่อทุน (3)อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (4)อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (5)อัตราค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (6)อัตราส่วนทุนสำรองต่อสินทรัพย์ และ (7)อัตราส่วนหนี้สินระยะสั้นที่ชำระได้ตามกำหนด

4 คะแนน มั่นคงดีมาก
3 คะแนน มั่นคงดี
2 คะแนน มั่นคงตามมาตรฐาน
1 คะแนน ต่ำกว่ามาตรฐาน
0 คะแนน ต้องปรับปรุง,ต้องแก้ไขเร่งด่วน

3.ประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร
ประเมินจากชั้นคุณภาพของการควบคุมภายในของสหกรณ์ เป็นการพิจารณาว่า สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มีกระบวนการที่คณะผู้บริหารและบุคคลากรในองค์กรกำหนดขึ้นซึ่งเป็นการออกแบบในระดับที่สมเหตุสมผล รวมถึงการปฏิบัติตามนโยบายของผู้บริหาร การป้องกันรักษาทรัพย์สิน การป้องกันและการตรวจพบข้อผิดพลาด ความถูกต้องครบถ้วนของการบันทึกบัญชี และการจัดทำข้อมูลทางการเงินที่เชื่อถือได้และทันเวลา ซึ่งยังครอบคลุมถึงสภาพแวดล้อมของการควบคุมด้วย

4 คะแนน ดีมาก
3 คะแนน ดี
2 คะแนน พอใช้
1 คะแนน ต้องปรับปรุง
0 คะแนน ไม่มีการควบคุมภายใน

4.ประสิทธิภาพของการบริหารงาน
จะประเมินถึงการบริหารงานของคณะกรรมการ โดยพิจารณาจากการเกิดทุจริตและข้อบกพร่องในการบริหารงานของสหกรณ์ ได้แก่
1.การเกิดการทุจริต
2.การมีข้อบกพร่อง จำแนกได้ดังนี้
(1)ข้อบกพร่องทางบัญชี
(2)ข้อบกพร่องทางการเงิน
(3)การดำเนินการนอกกรอบวัตถุประสงค์
(4)พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย
(5)ข้อบกพร่องอื่นๆ

2. รักษามาตรฐานของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร
มาตรฐานสหกรณ์ มี 7 ข้อ ประกอบด้วย
(1) ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์มีผลการดำเนินงานไม่ขาดทุนเว้นแต่ปีใดมีอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ จนเกิดความเสียหายต่อสมาชิกและสหกรณ์โดยรวมให้ตัดปีนั้นออก
(2) ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง ไม่มีการกระทำอันถือได้ว่าทุจริตต่อสหกรณ์
(3) ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์จัดทำงบการเงินแล้วเสร็จและส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
(4) ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกทั้งหมดทำธุรกิจกับสหกรณ์
(5) ต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่สหกรณ์ปฏิบัติงานประจำรับผิดชอบดำเนินการและธุรกิจของสหกรณ์ หากไม่มีการจัดจ้างต้องมีกรรมการดำเนินการหรือสมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำ
(6) ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์ต้องมีการจัดสรรกำไรสุทธิและจ่ายเงินสวัสดิการสมาชิกหรือทุนสาธารณประโยชน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
(7) ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์

ข้อยกเว้นที่ไม่นำมาจัดมาตรฐาน
(1) สหกรณ์ที่จัดตั้งใหม่ไม่ถึง 2 ปี
(2) สหกรณ์ที่หยุดดำเนินธุรกิจหรือไม่ดำเนินธุรกิจ
(3) สหกรณ์อยู่ระหว่างชำระบัญชีหรือสหกรณ์ที่หยุดดำเนินกิจการ

มาตรฐานกลุ่มเกษตรกร มี 5 ข้อ ประกอบด้วย
(1) คณะกรรมการดำเนินการจัดให้มีการจัดทำงบงบดุลรอบสิบสองเดือนแล้วเสร็จและจัดให้มีผู้ตรวจสอบได้ภายใน 150 วัน ตามกฎหมาย
(2) ไม่มีข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับรายการข้อบกพร่องทางการเงินและบัญชีอย่างร้ายแรง
(3) มีการทำธุรกิจหรือบริการอย่างน้อย 1 ชนิด
(4) มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายในกำหนดเวลา 150 วัน ตามกฎหมาย
(5) มีกำไรสุทธิประจำปีและมีการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีตามกฎหมาย

ข้อยกเว้นที่ไม่นำมาจัดมาตรฐาน
(1) กลุ่มเกษตรกรจัดตั้งใหม่ไม่ครบ 2 ปี
(2) อยู่ระหว่างชำระบัญชี หยุดดำเนินกิจการหรือไม่ดำเนินธุรกิจ
         
เมื่อสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้มีการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานเพื่อให้ผ่านมาตรฐานแล้วก็จะทำให้สมาชิกมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมากขึ้นเพราะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกทั้งยังได้รับสิทธิในการกู้เงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้
 ... 
นายธีระยุทธ  จิตร์ตรีสินธุ์
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ
กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 1
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ