สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทความ "งบการเงินหัวใจสำคัญของสหกรณ์”

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 24 ส.ค. 2565 เวลา 10:06 น.
 1451
UploadImage

“งบการเงินหัวใจสำคัญของสหกรณ์”
 
งบการเงิน คือ ข้อมูลสำคัญที่ทำให้ทราบว่ากิจการของสหกรณ์มีการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไร สถานะทางการเงินแข็งแกร่งมากน้อยแค่ไหน ผู้บริหารมีประสิทธิภาพอย่างไร มีสัญญาณอะไรบ้างที่ต้องจับตา เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถประเมินประสิทธิภาพการบริหารงานของสหกรณ์ได้ ดังนั้นงบการเงินจึงเปรียบเสมือนหัวใจหลักของสหกรณ์ หากเราไม่ดูแลหัวใจ ไม่ตรวจสอบเอาใจใส่ก็ทำหัวใจมีปัญหาและส่งผลต่อร่างกายเราได้ การจัดทำงบการเงินก็เช่นกัน จะแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของสหกรณ์กล่าวคือเป็นกระจกสะท้อนความเข้มแข็งของฐานะการเงิน และการเติบโตของผลการดำเนินงานที่แท้จริง หากขาดการดูแล การตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอแล้ว การดำเนินงานของสหกรณ์ย่อมจะเกิดปัญหาได้

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำงบการเงินจึงได้กำหนดตัวชี้วัดในการแนะนำส่งเสริมสหกรณ์ คือสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรสามารถจัดทำงบการเงินและปิดบัญชีได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี เพื่อทำให้สหกรณ์สามารถใช้ข้อมูลจากงบการเงินมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจและบริหารงานของสหกรณ์ รวมทั้งใช้ในการควบคุมการปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการให้เป็นไปตามนโยบายและแผนงานที่กำหนดไว้ ข้อมูลในงบการเงินจึงมีความสำคัญต่อบุคคลหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการบริหารงานของสหกรณ์ ดังนี้

          1.คณะกรรมการดำเนินงาน งบการเงินจะสะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาการดำเนินงานว่ามีปัญหาอย่างไร และจะหาวิธีการแก้ไขปรับปรุงได้ทันต่อเหตุการณ์ เห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ซึ่งสามารถนำไปจัดทำเป็นแผนธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งแผนธุรกิจที่ดีต้องมีข้อมูลงบการเงินเป็นตัวสนับสนุนเสมอ
          2.ฝ่ายจัดการ ข้อมูลจากงบการเงินจะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการดำเนินงานของฝ่ายจัดการว่าสามารถปฏิบัติงานได้ตามแผนงานและนโยบายที่สหกรณ์กำหนดไว้หรือไม่ และผู้จัดทำงบการเงินของสหกรณ์จะเป็นฝ่ายจัดการ ซึ่งจะต้องมีความรู้ความเข้าใจการการจัดทำบัญชีและงบการเงิน อีกทั้งยังต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตในการนำเสนอข้อมูลทางบัญชีที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง และรวดเร็ว
          3.สถาบันการเงิน  สามารถใช้ข้อมูลจากงบการเงินของสหกรณ์ในการประเมินฐานะความมั่นคงทางการเงิน และความสามารถในการส่งชำระหนี้คืนรวมถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในการให้สหกรณ์กู้ยืมเงิน
          4.หน่วยงานราชการ ในฐานะผู้กำกับดูแล ให้คำแนะนำและส่งเสริมการดำเนินงาน จะใช้ข้อมูลจากงบการเงินของสหกรณ์เพื่อวิเคราะห์วางแผนการส่งเสริมงานสหกรณ์ในอนาคต
          5.สมาชิกสหกรณ์ ในฐานะเจ้าของสหกรณ์ ต้องทราบผลการดำเนินงานของสหกรณ์ว่ามีกำไร ขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจมากน้อยเพียงใด  ในกรณีที่มีกำไรสุทธิประจำปีต้องมีการจัดสรรให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ

          ดังนั้น สหกรณ์ควรให้ความสำคัญกับการจัดทำงบการเงิน และคณะกรรมการดำเนินงานของสหกรณ์ควรมีความรู้ความเข้าใจในการอ่านงบการเงินเพื่อใช้ประโยชน์ในการบริหารของสหกรณ์ เพราะจะทำให้ทราบต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ช่วยให้วางแผนในเรื่องของกำไรขาดทุนของสหกรณ์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสหกรณ์ หากสหกรณ์ใดไม่สามารถจัดทำงบการเงินให้แล้วเสร็จในปีบัญชีได้ก็เป็นสัญญาณให้เห็นว่าหัวใจของสหกรณ์กำลังเกิดปัญหาซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ การวางระบบบัญชีและงบการเงินที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ จะช่วยป้องกันปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นกับสหกรณ์ได้
 
โดย
นางสาวเพ็ญสิรี ศรียะศักดิ์
นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ