สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

23 กรกฎาคม 2565 “หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี” สิ้นชีพิตักษัย สิริชันษา 100 ปี

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 23 ก.ค. 2565 เวลา 13:54 น.
 801
UploadImage


23 กรกฎาคม 2565
“หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี”
สิ้นชีพิตักษัย สิริชันษา 100 ปี
.......
 
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี (20 มกราคม พ.ศ. 2465 – 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565) เป็นพระโอรสในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ องค์ต้นราชสกุล "รัชนี" ประสูติแต่หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี (วรวรรณ) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 (ศักราชแบบเก่า) และมีเจ้าพี่ร่วมพระมารดาหนึ่งพระองค์คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เป็นพระปนัดดา (เหลน) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (วังหลวง) และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (วังหน้า) และเป็นพระนัดดา (หลาน) ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (กรมพระราชวังสถานมงคลพระองค์สุดท้าย) นับเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายในสายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นอดีตองค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง และเป็นหม่อมเจ้าเพียงองค์เดียวที่ประสูติในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ยังมีชนม์ชีพ และทรงเป็นเจ้านายสายบวรราชสกุลที่ยังทรงชนม์อยู่เพียงองค์เดียว และเป็นเจ้านายที่ชันษาสูงที่สุดที่ยังทรงชนม์อยู่ ณ ขณะนี้ ปัจจุบันชันษา 100 ปี ประทับที่วังประมวญ มีผลงานนิพนธ์โดยทรงใช้นามปากกาว่า ภ. ณ ประมวญมารค
 
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเป็นผู้ติดตามใกล้ชิด โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 8 และเคยดำรงตำแหน่ง “ประธานมูลนิธิโครงการหลวง”
 
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี สิ้นชีพิตักษัย ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริชันษา 100 ปี
 
พระประวัติ
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี มีพระนามลำลองว่า ท่านชายภี เป็นพระโอรสในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กับหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี (ราชสกุลเดิม วรวรรณ) ประสูติเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2464 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2465) เป็นพระราชนัดดาในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (กรมพระราชวังบวรพระองค์สุดท้าย) มีโสทรเชษฐภคินีพระองค์เดียว คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต
 
หม่อมเจ้าภีศเดชทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ในวิทยาลัยดัลลิช (Dulwich College) โรงเรียนเอกชนในประเทศอังกฤษ ทรงจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านประวัติศาสตร์ กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงสมัครเป็นทหาร และเป็นสายลับของกองทัพอังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ. 2485 - 2489 หลังสงครามได้เสด็จกลับประเทศไทย จากนั้นทรงงานในบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการด้านโฆษณาจนถึงปี พ.ศ. 2505 จึงทรงลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนองค์และช่วยพระราชกิจพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
 
การทรงงาน
 
ในปี พ.ศ. 2512 ประเทศไทยประสบปัญหายาเสพติด เนื่องจากชาวเขาในภาคเหนือนิยมปลูกฝิ่นเพื่อยังชีพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ มีพระบรมราโชบายให้ชาวเขาร่วมมือกันกำจัดฝิ่นโดยสันติวิธี ทรงพระราชทานพระราชดำริ ให้ชาวเขาหันมาปลูกพืชที่มีประโยชน์ และมีรายได้ดี เช่น ท้อ พลัม สตรอเบอรี่ รวมทั้งผักและดอกไม้เมืองหนาว โดยหม่อมเจ้าภีศเดชเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการหม่อมเจ้าภีศเดชเป็นผู้ติดตามใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช และเคยดำรงตำแหน่งองค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง
นอกจากนี้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ยังดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
 
ชีวิตส่วนองค์
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เสกสมรสกับหม่อมราชวงศ์ดัชรีรัชนา รัชนี (ราชสกุลเดิม วรวรรณ; ธิดาในหม่อมเจ้านิตยากร วรวรรณ กับหม่อมแก้ว วรวรรณ ณ อยุธยา) นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) มีโอรสและธิดารวม 3 คน ได้แก่
1.หม่อมราชวงศ์ดัจฉราพิมล รัชนี (คุณหญิงนาว)
2.หม่อมราชวงศ์ภวรี สุชีวะ (คุณหญิงหนิง)
3.หม่อมราชวงศ์ธีรเดช รัชนี (คุณชายธี) ต.จ.
 
ปัจจุบันหม่อมเจ้าภีศเดชเป็นเจ้านายสายบวรราชสกุลที่ยังทรงชนม์อยู่เพียงองค์เดียว และเป็นเจ้านายที่ชันษาสูงที่สุดที่ยังทรงชนม์อยู่ ณ ขณะนี้ ปัจจุบันชันษา 100 ปี ประทับที่วังประมวญ มีผลงานนิพนธ์โดยทรงใช้นามปากกาว่า ภ. ณ ประมวญมารค
 
พระเกียรติยศ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
• พ.ศ. 2531 –  เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)
• พ.ศ. 2548 –  เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
• พ.ศ. 2547 –  เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
• พ.ศ. 2497 –  เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)
• พ.ศ. 2562 –  เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)
• พ.ศ. 2503 –  เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 9 (ร.จ.ท.9)
 
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากหลายสถาบัน ได้แก่
• พ.ศ. 2528 - ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้
• พ.ศ. 2553 - วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• พ.ศ. 2556 - ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการสิ่งแวดล้ม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
• พ.ศ. 2557 - วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยสยาม
 
นอกจากนี้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ยังได้รับการถวายรางวัล ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ปี 2554 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากทรงมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ และมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย โดยส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง ทดแทนการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งส่งผลให้ลดการทำลายธรรมชาติลง และเป็นการรักษาผืนดิน