สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

4 พฤษภาคม 'วันฉัตรมงคล'

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 04 พ.ค. 2565 เวลา 09:00 น.
 6790
UploadImage
 
4 พฤษภาคม 'วันฉัตรมงคล'
รำลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 'พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว'
 
วันฉัตรมงคล (ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี
 
วันฉัตรมงคลคือวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 และดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
 
ทั้งนี้ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย
 
ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 หลังจากรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ทางรัฐบาลโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษายกเลิกวันนี้ลง และกำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคม อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันหยุดเพิ่มเติมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป
 
อย่างไรก็ตามเนื่องจากวันฉัตรมงคลถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และในปีต่อไปให้ถือว่าวันนี้เป็นวัน “ฉัตรมงคล”
 
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

 
UploadImage
 
 
ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นราชประเพณีคู่สังคมไทยมายาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากคติอินเดีย แต่ลักษณะการพระราชพิธีแต่เดิมมีแบบแผนรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้แต่การเรียกชื่อพิธีก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมัย เช่น สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” ส่วนในปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
 
สมัยสุโขทัยปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กล่าวถึงการขึ้นเป็นผู้นำของพ่อขุนบางกลางหาว ไว้ว่า

“...พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์...”

ส่วนในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาไทย และภาษาเขมรกล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ว่ามี มกุฎ พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร
 
สมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคำให้การของชาวกรุงเก่า ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงขั้นตอนของพระราชพิธีนี้ว่า

“...พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอาไม้มะเดื่อนั้น มาทำตั่งสำหรับประทับสรงพระกระยาสนานในการมงคล เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น

พระองค์ย่อมประทับเหนือพระที่นั่งตั่งไม้มะเดื่อ สรงพระกระยาสนานก่อนแล้ว (จึงเด็จไปประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ) มุขอำมาตย์ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ มหามงกุฎ ๑ พระแสงขรรค์ ๑ พัดวาลวิชนี ๑ ธารพระกร ๑ ฉลองพระบาทคู่ ๑...”
 
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ไม่ปรากฏหลักฐานการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สันนิฐานว่าทำตามแบบอย่างเมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ทำอย่างสังเขป เพราะบ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย ยังอยู่ในภาวะสงคราม
 
ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูล เต็มตำรา
ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๖ โปรดให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่า มีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธาน ประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ทำการสอบสวนร่วมกันตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงวัดประดู่
 
แล้วแต่งเรียบเรียงขึ้นไว้เป็นตำรา เรียกว่า “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” เป็นตำราที่เกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย
 
เมื่อได้แบบแผนการราชาภิเษกที่สมบูรณ์แล้ว อีกทั้งพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกครั้งหนึ่ง และแบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้รับการยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมาเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์
 
ก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง
   
จนกระทั่ง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2393 โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ
 
แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคล เป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย
 
ดังนั้น จึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” นี้ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
 
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 วันบรมราชาภิเษก ตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน