สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทความ : การตรวจการสหกรณ์เพื่อการกำกับ ดูแล ตรวจสอบและคุ้มครองระบบสหกรณ์

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 07 เม.ย. 2565 เวลา 15:09 น.
 1978
UploadImage

การตรวจการสหกรณ์เพื่อการกำกับ ดูแล ตรวจสอบและคุ้มครองระบบสหกรณ์
 
การตรวจการสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบ ป้องกันมิให้มีการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ หลักการสหกรณ์ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการ   ของสหกรณ์ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ ฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับหรือระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนที่ดีของสหกรณ์ กรณีตรวจพบว่าสหกรณ์ใดมีการกระทำหรืองดเว้นกระทำในลักษณะดังกล่าวข้างต้นนั้น ต้องรายงานเพื่อพิจารณาให้มีการสั่งการโดยเร็ว โดยแบ่งการตรวจสอบออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. การตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ จะเป็นการตรวจสอบหรือสอบทานการดำเนินงานของสหกรณ์ในขอบเขต ดังนี้
 - กรณีที่เกี่ยวกับสมาชิก ในเรื่องดังต่อไปนี้คือ สัญญาและข้อเท็จจริงที่สมาชิกทำไว้กับสหกรณ์ ที่เป็นเรื่องการกู้ยืมเงิน สวัสดิการที่สมาชิกได้รับหรือจะได้รับจากสหกรณ์ การฝาก/การถอนเงิน/การถือหุ้น/การจ่ายคืนค่าหุ้นของสมาชิก การจำหน่ายปัจจัยการผลิตหรือสินค้าให้สมาชิก การรวบรวมผลผลิตของสมาชิก การให้บริการสมาชิกในรูปแบบต่างๆ การรับสมัครสมาชิก สมาชิกสมทบ และการให้พ้นจากสมาชิกภาพ และเรื่องอื่นๆ ที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
- กรณีเกี่ยวกับบุคคลอื่น ในเรื่องดังต่อไปนี้คือ นิติกรรมสัญญาใดๆ ที่มีผลผูกพันต่อสหกรณ์ ทั้งที่เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับคดีความ ไม่ว่าสหกรณ์จะเป็นโจทก์หรือจำเลย การฝากเงินหรือ รับฝากเงินจากสหกรณ์อื่นหรือธนาคาร การใช้เงินเพื่อการลงทุน การจัดหาปัจจัยการผลิตหรือจัดหาสินค้า   มาจำหน่าย การจำหน่ายผลผลิตที่รวบรวมจากสมาชิกหรือแปรรูปจำหน่าย การจัดซื้อจัดจ้างวัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง หรือจ้างเหมาบริการ และเรื่องอื่นๆ ที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
- กรณีการบริหารจัดการภายในองค์กร ในเรื่องดังต่อไปนี้คือ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ การดำเนินการตามแผนงานงบประมาณ การประชุมและมติของที่ประชุม เอกสารหลักฐานสำหรับใช้ใน การดำเนินการของสหกรณ์ การจัดให้มีสวัสดิการในลักษณะต่างๆ การดำเนินการตามระบบควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง และเรื่องอื่นๆ ที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด

2. การตรวจสอบฐานะการเงินของสหกรณ์ จะเป็นการตรวจสอบหรือสอบทานสถานภาพ การบริหารจัดการทางการเงินของสหกรณ์ ในกรณีของที่มาของเงินที่เข้าสู่สหกรณ์ การใช้ไปของเงินที่สหกรณ์ได้มา รวมทั้งเส้นทางของเงินที่ใช้ไปในกรณีที่น่าสงสัยว่าไม่ปกติ ความสามารถของสหกรณ์ในการชำระหนี้    แก่เจ้าหนี้ การฝากและการเบิกถอนเงินจากธนาคาร จากสหกรณ์อื่นหรือจากสถาบันการเงินใดๆ การใช้เงินของสหกรณ์เพื่อการลงทุนและการถอนเงินลงทุน การรักษาสภาพคล่องและการก่อหนี้กู้ยืมเงินหรือค้ำประกัน รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดในการตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ นายทะเบียนสหกรณ์อาจกำหนดเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องในการตรวจสอบแต่ละคราวได้ การรายงานผลการตรวจสอบ ให้ผู้ตรวจการสหกรณ์เสนอรายงานผลการตรวจสอบตามแบบรายงานการตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ ต่อสหกรณ์จังหวัดในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อทราบหรือพิจารณาสั่งการต่อไป
 

โดย....นางจิราวรรณ  เพ็งเรือง
นักวิชาการสหกรณ์ปฏิบัติการ
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์