สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทความ : หลักเกณฑ์การประเมินการจัดชั้นสหกรณ์

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 14 ก.พ. 2565 เวลา 13:14 น.
 3435
UploadImage 

หลักเกณฑ์การประเมินการจัดชั้นสหกรณ์

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร โดยใช้ผลการจัดระดับชั้นของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเป็นตัวชี้วัดการประเมินผลความสำเร็จของการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งการจัดระดับชั้นของสหกรณ์ แบ่งเป็น 4 ชั้น และมีหลักเกณฑ์ในการประเมินการจัดชั้นของสหกรณ์ ทั้งหมด 4 ด้าน  ดังนี้

1. ด้านความสามารถในการให้บริการสมาชิก (การมีส่วนร่วม) โดยสามารถประเมินได้จากธุรกิจด้านต่างๆ ที่สหกรณ์ดำเนินงานอยู่นั้น สามารถให้บริการกับสมาชิกได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมสมาชิกได้ครบทุกคนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด โดยวัดผลจากจำนวนสมาชิกที่ใช้บริการ/ร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์ อย่างน้อย คนละ 1 ด้าน
 
2. ด้านประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถประเมินจากอัตราส่วนทางการเงินของสหกรณ์ ซึ่งผลมาจากการบริหารงานและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ โดยมีอัตราส่วนที่ใช้เป็นเกณฑ์ประเมิน 7  อัตราส่วน คือ 1) อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน  2) อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของทุน 3) อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์  4) อัตราส่วนทุนหมุนเวียน 5) อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน  6) อัตราส่วนทุนสำรองต่อสินทรัพย์ และ 7) อัตราส่วนหนี้ระยะสั้นที่ชำระได้ตามกำหนด

3. ด้านประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร (ควบคุมภายใน) โดยสามารถประเมินจากคุณภาพของการควบคุมภายในของสหกรณ์ แบ่งได้ 5 ระดับ คือ (1) ระดับดีมาก มีผลการควบคุมภายในเท่ากับ 4 คะแนน  (2) ระดับดี มีผลการควบคุมภายใน เท่ากับ 3 คะแนน (3) ระดับพอใช้ มีผลการควบคุมภายใน เท่ากับ 2 คะแนน  (4) ระดับต้องปรับปรุง  มีผลการควบคุมภายใน เท่ากับ 1 คะแนน และ(5) ระดับไม่มีการควบคุมภายใน มีผลการควบคุมภายใน = 0 คะแนน 

4. ด้านประสิทธิภาพของการบริหารงาน (ข้อบกพร่อง) โดยสามารถประเมินผลจากการดำเนินงาน คณะกรรมการและหรือฝ่ายจัดการของสหกรณ์ เกิดการทุจริตหรือมีข้อบกพร่องในการบริหารงานเกิดขึ้นหรือไม่  


UploadImage

UploadImage

จากหลักเกณฑ์การประเมินผล ตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ทั้ง 4 ด้าน สามารถแบ่งระดับชั้นของสหกรณ์  ออกเป็น 4 ระดับชั้น คือ

1. ระดับชั้น 1 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการบริการสมาชิกได้มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70 และมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับมาตรฐานขึ้นไป มีชั้นคุณภาพการควบคุมภายในระดับ ดี ถึงระดับ ดีมาก และไม่มีข้อบกพร่องจากการดำเนินงานหรือมีข้อบกพร่องแต่ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จสมบูรณ์ 

2. ระดับชั้น 2 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการบริการสมาชิกได้ระหว่างร้อยละ 60 - 69 และ มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน มีชั้นคุณภาพการควบคุมภายใน ในระดับ พอใช้ และเป็นสหกรณ์ที่มีข้อบกพร่องซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จแต่ต้องติดตาม หรือ อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข

3. ระดับชั้น 3 เป็นสหกรณ์ที่มีความสามารถในการบริการสมาชิกได้ต่ำกว่าร้อยละ 60 และมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับต้องปรับปรุง มีชั้นคุณภาพการควบคุมภายในต้องปรับปรุง หรือไม่มีระบบการควบคุมภายใน และเป็นสหกรณ์ที่เกิดข้อบกพร่องและยังไม่เริ่มดำเนินการแก้ไข

4. ชั้น 4 เป็นสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่นายทะเบียนสหกรณ์/นายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรสั่งเลิกกิจการแล้ว อยู่ในระหว่างการชำระบัญชี 


UploadImage

ทั้งนี้  สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร โดย นางวิไล ยูฮันเซ่น สหกรณ์จังหวัดยโสธร ได้มอบนโยบายให้กับกลุ่มงานวิชาการและกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ทุกกลุ่ม เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานในการเข้าไป  แนะนำ ส่งเสริม และผลักดันให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่อยู่เขตพื้นที่ในจังหวัดยโสธรให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น สามารถยกระดับขึ้นเป็นสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ชั้น 1 ได้ตามเป้าหมายที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนด  โดยนโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นการส่งเสริมให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร เกิดความเข็มแข็งจากภายใน มีการควบคุมภายในเพิ่มขึ้นจากเดิม ไม่มีข้อบกพร่อง มีธรรมภิบาลเกิดขึ้นในสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร รวมถึงให้ความสำคัญในด้านการส่งเสริมพัฒนาการดำเนินงาน/การดำเนินธุรกิจ มีการจัดชั้นสมาชิก การจัดชั้นลูกหนี้ สร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกให้เพิ่มขึ้น ให้สมาชิกมีการออม ส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อให้ สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อช่วยลดรายจ่าย และการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายให้ตรงตามความต้องการของสมาชิกอย่างแท้จริง

UploadImage

บทความโดย นางสาวเนรัญชรา  เดชผล
ตำแหน่ง  นักวิชาการสหกรณ์ปฏิบัติการ กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์  1
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร