สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

สันนิบาตสหกรณ์ฯ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 27 ธ.ค. 2564 เวลา 10:45 น.
 1342
UploadImage

สันนิบาตสหกรณ์ฯ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564
ชูตำราทรัพยศาสตร์อีกหนึงแนวทางพัฒนาสหกรณ์
 
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 เพื่อแจงผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมชูตำราทรัพยศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์ เน้นสหกรณ์เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่รอด
 
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประธานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานประชุมใหญ่ฯของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสันนิบาตสหกรณ์ที่มีต่อขบวนการสหกรณ์เสมอมา เนื่องจากสันนิบาตสหกรณ์ฯเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนากิจการสหกรณ์ทุกประเภทในประเทศไทย
 
“ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังคงเดินหน้าต่อในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร อันเป็นเหตุจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ปริมาณธุรกิจสหกรณ์ภาคการเกษตรลดลงกว่า 7,555 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตการเกษตรได้เหมือนเช่นสถานการณ์ปกติ รวมถึงผู้ส่งออกชะลอการรับซื้อสินค้าจากสหกรณ์ ขณะที่สมาชิกสหกรณ์ส่วนหนึ่งต้องกู้เงินจากสหกรณ์ หรือแหล่งเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อนำมาลงทุนทำการเกษตร ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรมีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้หลังจากดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว ทางกรมฯได้ลงไปเยี่ยมเยียนในต่างจังหวัดหลาย ๆ แห่ง พบว่าสหกรณ์ที่เขามีศักยภาพในการส่งเสริมให้สมาชิกประกอบอาชีพและรวบรวมผลผลิตออกจำหน่าย สมาชิกทำจริง มีรายได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมฯพร้อมให้การสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์พัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ เพื่อจะได้มีเงินเลี้ยงครอบครัวและส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์ได้ ทำให้ปัญหาเรื่องหนี้ค้างชำระลดลงในที่สุด” นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
 
ด้านนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของสันนิบาตสหกรณ์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้แทนสหกรณ์สมาชิก ได้รับทราบผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา และพิจารณาอนุมัติงบประมาณ ประจำปี 2565 ด้วย โดยได้รับเกียรติจากนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
 
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สันนิบาตสหกรณ์ฯ มีวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรกลางเพื่อพัฒนาขบวนการสหกรณ์สู่ความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน สู่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ “สหกรณ์” มิได้มีความหมายว่าเป็นเพียงนิติบุคคลซึ่งเป็นการรวมตัวของประชาชนเพื่อร่วมกันช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว “สหกรณ์” มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าที่เข้าใจกันอยู่ กล่าวคือ สหกรณ์เป็นระบบเศรษฐศาสตร์ประเภทหนึ่งหรืออาจจะเรียกได้ว่า “ระบบเศรษฐกิจสหกรณ์” และหากมองลงไปให้ลึกกว่านี้จะพบว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับหน่วยธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นจริงในสมัยรัชกาลที่ 6 และถูกนำมาสร้างความเป็นประชาธิปไตยในสมัยรัชการที่ 7 นั่นคือ “สหกรณ์”
 
การสร้างหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ได้สืบทอดและพัฒนาจากแนวคิด “ความร่วมมือของชุมชน” (Co-operative Community) จนถึงขั้นระดมทุนมาร่วมกันทำกิจการร้านค้าที่เรียกว่า “สมาคมการค้า” (Trading Association) เป็นร้านสหกรณ์จำหน่ายสินค้า ซึ่งนั่นหมายถึงหน่วยธุรกิจ เพื่อต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบการปลอมปนสินค้าการกำหนดราคาสูงเกินควรในยุคที่ต้องต่อสู้กับ “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี” และต่อมาได้พัฒนาเป็นสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ จนกระทั่งในที่สุดได้พัฒนาเป็นสถาบันการจัดหาทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมวลสมาชิก โดยอาศัยชุมชนร่วมกัน เพื่อเป็นเจ้าของในกิจการร่วมกัน หากได้พิจารณาแนวคิดดังกล่าวจะพบได้ว่า ในตำรา “ทรัพย์ศาสตร์” อันเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของสยามประเทศ เขียนโดย “พระยาสุริยานุวัตร” เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญเช่นเดียวกับอารยประเทศในยุโรป
 
“พระยาสุริยานุวัตรเน้นว่าการสหกรณ์เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่รอด เพราะด้วยวิธีการ “สหกรณ์” นี้ แรงงาน(ประชาชน) ยังมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต แต่นำเอาปัจจัยนั้นมาร่วมกันในการผลิต ต่างมีส่วนในการจัดการและแบ่งปันผลผลิต ตามแรงและทุนที่ร่วมกันลงไป แรงงานเป็นเจ้าของทุนด้วยในขณะเดียวกัน ความอริวิวาทในระหว่างนายทุนกับแรงงานจะไม่มี ระบบนี้ยังให้ความยุติธรรมในการปันกำไรให้แก่แรงงานที่เป็นเจ้าของทุนด้วยตามความเหน็ดเหนื่อย ในทัศนะของพระยาสุริยานุวัตร ทุนนับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นไปได้สำเร็จ การลงทุนทำให้เกิดผลประโยชน์และทรัพย์ได้ต่อไป ประเทศที่มีการลงทุนมากจึงเจริญก้าวหน้ารวดเร็ว โดยพระยาสุริยานุวัตรได้แบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็น 3 ประการ คือ ที่ดิน, แรงทำการ และทุน แต่ความหมายของทุนก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะ “เงินทุน” เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง “ทรัพยกรบุคคล” อีกด้วย
 
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ระบบสหกรณ์ คือ ระบบที่สร้างความเข็มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มั่นคงยั่งยืนให้คนฐานรากได้มีทุนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สหกรณ์จึงมิใช่สถาบันการเงินอย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสำนักเศรษฐกิจการคลังเข้าใจ แต่สหกรณ์เป็นหน่วยธุรกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ให้ประชาชนเฉพาะกลุ่มแต่ละกลุ่มเข้าถึงแหล่งเงินราคาถูก ด้วยการช่วยกันเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ขบวนการสหกรณ์เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนตามหลักการสหกรณ์” นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. กล่าว


UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage