สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

ผู้ตรวจสอบกิจการ : กลไกสำคัญของการป้องกันข้อบกพร่องในสหกรณ์

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 25 ต.ค. 2564 เวลา 14:11 น.
 4131
UploadImage

ผู้ตรวจสอบกิจการ : กลไกสำคัญของการป้องกันข้อบกพร่องในสหกรณ์
 
คนที่อยู่ในขบวนการสหกรณ์ล้วนเข้าใจดีว่าการบริหารกิจการสหกรณ์ในแต่ละแห่งนั้น จะได้รับการตรวจสอบจากบุคคลที่มาจาก 3 ทาง  ได้แก่ 
1.ผู้ตรวจสอบกิจการ ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ ทำหน้าที่ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์แล้วทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมใหญ่
2.ผู้สอบบัญชี ได้รับแต่งตั้งจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์หรือเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต  ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานการสอบบัญชีและตามระเบียบที่อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด
3.ผู้ตรวจการสหกรณ์ แต่งตั้งโดยนายทะเบียนสหกรณ์ เป็นข้าราชการจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีหน้าที่ตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด

ผู้สอบบัญชีและผู้ตรวจการสหกรณ์มีที่มาจากภาครัฐ   อย่างไรก็ตามภาครัฐต้องการให้สหกรณ์มีระบบการตรวจสอบกิจการของตนเองจึงได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 53 ให้สหกรณ์มีผู้ตรวจสอบกิจการ ประกอบกับปัจจุบันได้มีการกำหนดระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ พ.ศ.2563 ที่ได้นิยามของการตรวจสอบกิจการไว้ว่า “หมายถึง การตรวจสอบการดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ความเชื่อมั่น เพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการปฏิบัติงานของสหกรณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สหกรณ์ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามหลักการสหกรณ์ บรรลุถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ตามที่กำหนดไว้” รวมทั้งมีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์  ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นผู้ตรวจสอบกิจการจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ผู้ตรวจสอบกิจการต้องรายงานผลการตรวจสอบกิจการประจำเดือนเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ในการประชุมประจำเดือน  ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบกิจการพบว่ามีเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสหกรณ์ หรือสหกรณ์มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ หรือคำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ มติที่ประชุม หรือคำสั่งของสหกรณ์ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกและสหกรณ์ ให้ผู้ตรวจสอบกิจการแจ้งผลการตรวจสอบกิจการต่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ทันที และให้แจ้งสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด  โดยเร็ว  

บทบาทภารกิจของผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ในปัจจุบัน จึงเป็นกลไกสำคัญของระบบการตรวจสอบด้วยสหกรณ์เอง  เป็นการดำเนินงานของสหกรณ์ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น เพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการปฏิบัติงานของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก สิ่งสำคัญคือเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ตรวจสอบกิจการแล้วจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสหกรณ์ ระเบียบ ประกาศ คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ ระเบียบและข้อบังคับสหกรณ์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และต้องไม่ลืมว่ากรณีผู้ตรวจสอบกิจการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติผิดจริยธรรมในการปฏิบัติงานจนเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย  ที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์อาจมีมติให้ผู้ตรวจสอบกิจการรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้

 

วสิษฐ์พล  พุทธพงษ์
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ