สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

พระบารมีปกเกล้าชาวสหกรณ์

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 12 ต.ค. 2564 เวลา 19:13 น.
 1143
UploadImage
พระบารมีปกเกล้าชาวสหกรณ์
 
“...การอยู่เป็นสหกรณ์นี้ เคยพูดมาแล้วนานแล้วหลายครั้งแล้วว่า แปลว่า ร่วมกัน อยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกัน คือ “สห” ก็ “ด้วยกัน” “กรณ์” ก็ “ทำงาน” ทำงานด้วยกันทำงานด้วยกัน
สำหรับอะไร ก็สำหรับให้มีความสุข คือมีกินมีอยู่ อันนี้ก็เท่ากับช่วยตัวเอง ถ้าอยากให้มีผลดี ทุกคนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ หมายถึงทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็ก ทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชาย จะต้องคิดดูว่า เรามีชีวิตทำไม เราอยากได้อะไร และจะทำอย่างไร
สหกรณ์นี้ก็เท่ากับเป็นหนึ่ง จะต้องทำทุกอย่าง จะต้องทำมาหากินเพาะปลูก แล้วก็เมื่อเพาะปลูกแล้วก็ต้องขายได้ เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็อาจจะมีความไม่สบาย ป่วยไข้เบียดเบียนได้บ้างก็ต้องรักษา นอกจากนี้ก็ต้องรักษาความเรียบร้อย ป้องกันอันตรายที่จะมีมาเพราะว่าอาจจะมีผู้ร้ายเข้ามาได้ ทั้งหมดนี้เป็นงานของสหกรณ์...”

 
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกระพง จำกัด
ณ สหกรณ์การเกษตรหุบกระพง จำกัด
วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๑
 

ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติพระองค์ปกครองประเทศได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานับประการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังทั่วทุกท้องถิ่นของประเทศเพื่อเยี่ยมเยียนประชาชน รับทราบและศึกษาข้อมูลที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริอันสูงส่งด้วยพระเมตตา พระกรุณา และพระปรีชาสามารถให้แก่ข้าราชการในพระองค์ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนในท้องถิ่นได้นำไปปฏิบัติ หรือให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อันยังประโยชน์แก่พสกนิกรมากที่สุด
 
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่ส่งผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนในส่วนต่าง ๆ ของประเทศโดยตรง โดยเฉพาะชาวชนบทที่อยู่ห่างไกลทุรกันดารและยากจนอย่างแท้จริง โครงการพระราชดำริซึ่งมี มากกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ อยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชาติ การบริหารทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นส่วนรวมด้วย


UploadImage
 
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยหลักการวิธีการสหกรณ์ในพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริ อาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่การจัดตั้งหมู่บ้านหุบกะพง
 
ในปี ๒๕๐๗ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงพระราชวังไกลกังวล ทรงพบว่าชาวสวนผักชะอำมีความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ จึงพระราชทานเงินยืมจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แต่ความขัดสนในการประกอบอาชีพทำให้บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถถวายคืนได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงทรงมีพระราชดำริให้จัดหาพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านั้นและดำเนินการจนสามารถพัฒนาอาชีพของตนได้อย่างยั่งยืน เป็นสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง


UploadImage
 
ภายหลังจากที่ได้มีการคัดเลือกพื้นที่บริเวณตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จำนวน ๑๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งเดิมมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมพื้นที่แห้งแล้ง โดยกันออกจากเขตของกรมป่าไม้นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรโดยมิให้กรรมสิทธิ์แต่ใช้เทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่ ปรับปรุงพัฒนาสภาพที่ดินให้มีความเหมาะสมต่อการทำการเกษตรในลักษณะ "หมู่บ้านสหกรณ์" ใช้หลักการ วิธีการ อุดมการณ์ของสหกรณ์มาทำการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสเพิ่มเติมคราวหนึ่งว่า
 
".....ทำไปทำมาเขาไปรวมกลุ่มทำ.....รวมพวกได้มากขึ้นจนเกิดเป็นกลุ่มเกษตรร่วมกับกลุ่มสวนผัก.....เราไป บอกว่าสหกรณ์นี้ดี ก็ช่วยกันทำไปส่งเสริมเขา....."
 
สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ประเภทการเกษตร เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๔ รับเกษตรกรชาวสวนผัก จำนวน ๘๓ ครอบครัว และเกษตรกรที่เข้าทำประโยชน์อยู่เดิม ๔๖ ครอบครัว รวม ๑๒๙ ครอบครัว เข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อทำการเกษตร ครอบครัวละ ๒๕ ไร่ สมาชิกเกษตรกรเหล่านี้ได้ปลูกผัก หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบแดง ฯลฯ ส่วนที่ไร่นั้นสมาชิกได้ปลูกอ้อย สับปะรด


UploadImage

ผลการดำเนินงานของสหกรณ์ในปีการเงิน ๒๕๑๕ ปรากฏว่าสหกรณ์มีทุนดำเนินการ ๒๕๓,๖๗๗.๕๐ บาท
มีทุนเรือนหุ้น ๑๗๕,๐๐๐ บาท มีเงินสำรอง ๖๐,๖๖๑.๕๐ บาทและได้กำไรสุทธิในปีแรกเป็นเงิน ๓,๓๗๖.๒๒ บาท
 
ในปัจจุบันที่ดินบริเวณหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ที่นำมาจัดสรรแก่เกษตรกรนั้น ทำมาหากินไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินเลว ขาดแคลนน้ำ การพัฒนาจึงดำเนินการพร้อม ๆ กันทั้งในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาดิน และแสวงหาพืชและสัตว์ที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงในพื้นที่


UploadImage
 
ถึงวันนี้ หุบกะพง เป็นศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตร เพื่อศึกษาการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้ง ภายในมี “ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง” ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจได้ศึกษาและนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรมต่อไป ประกอบด้วย นิทรรศการภายในอาคาร ซึ่งจำลอง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศทั้ง ๖ แห่งมาไว้ในที่เดียว

การจัดหมู่บ้านที่หุบกะพง จึงเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในโครงการพระราชดำริ ซึ่งจัดในรูปสหกรณ์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และต่อมาได้ขยายผลนำรูปแบบ และวิธีการสหกรณ์ไปเผยแพร่ ปลูกฝัง ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชน บนพื้นฐานแห่ง "การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน"
 
จะเห็นได้ว่าในการแก้ไขปัญหาด้านความเป็นอยู่ของประชาชน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มักจะทรงนำวิธีการสหกรณ์มาใช้อยู่เสมอเนื่องจากว่าภาครัฐบาลไม่สามารถทุ่มเทให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทั้งหมด การที่ประชาชนรู้จักการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประกอบกับการช่วยเหลือของรัฐ จะทำให้สร้าง ประโยชน์แก่ประชาชนอันเป็นพสกนิกรของพระองค์ท่านได้ในที่สุด
 


UploadImage
 
“สหกรณ์โคนมหนองโพ”
 
เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดราชบุรี ซึ่งดำเนินการเลี้ยงโคนมมาก่อนหน้านี้แล้ว
ได้ประสบปัญหาใหญ่เกี่ยวกับ สถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบที่รีดได้จากแม่โค ทำให้เกิดความเสียหายแก่น้ำนมและประสบภาวการณ์ขาดทุน ในการประกอบอาชีพ กลุ่มผู้นำเกษตรกรทั้งชาวตำบลหนองโพและเขตใกล้เคียง ได้ทำการติดต่อกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ช่วยรับซื้อน้ำนมดิบจาก กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเขตจังหวัดราชบุรีและทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ยินดีรับซื้อแต่มีปัญหาว่าน้ำนมดิบนั้นจะต้องผ่านการทำความเย็นเพื่อรักษาคุณภาพในขณะขนส่ง
 
ต่อมา แม้ว่าการดำเนินการของศูนย์รวมน้ำนมจะได้ผลดี แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้กว้างขวางประกอบกับเพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำนมดิบที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต กลุ่มผู้เลี้ยงโคนมที่ก่อตั้งศูนย์รวมน้ำนมจึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่จะจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมขึ้นที่ตำบลหนองโพ
 
โดยตอนต้นปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้พิจารณาเห็นว่าการจัดสหกรณ์โคนม เป็นสหกรณ์รูปแบบใหม่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย จึงได้ออกไปประชุมเกษตรกรผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกสหกรณ์ในท้องที่ตำบลหนองโพด้วยตนเอง ผลปรากฏว่าผู้เลี้ยงโคนมมีความเห็นชอบในวิธีการสหกรณ์โคนมเป็นเอกฉันท์จึงได้ดำเนินการแนะนำให้เกษตรกรพิจารณากำหนดแผนการดำเนินงานของสหกรณ์ขึ้นไว้
 
ต่อจากนั้นมาก็ได้มีการประชุมผู้ริเริ่มสหกรณ์หลายครั้งจนกระทั่งวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๔ ผู้เลี้ยงโคนมได้ประชุมกันที่ศาลาการเปรียญวัดหนองโพ ตำบลหนองโพ เพื่อดำเนินการก่อตั้งสหกรณ์มีผู้เข้าชื่อเป็นสมาชิกสหกรณ์ทั้งสิ้นเมื่อแรกตั้ง๑๘๕ คนได้มอบหมายให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์รวม ๑๕ คน ทำคำขอจดทะเบียนยื่นต่อนายทะเบียนสหกรณ์
 
ในช่วงระยะก่อนที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะก่อตั้งศูนย์รวมน้ำนม และสหกรณ์ขึ้นที่ตำบลหนองโพ อำเภอโพธารามนั้น ในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๒ สถานีผสมเทียมจังหวัดราชบุรี ได้นำบรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าเฝ้าละลองธุลีพระบาทในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเปิดโรงงานนมผงสวนจิตรลดา ณ พระราชวังสวนจิตรลดา และในครั้งนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของจังหวัดราชบุรี ได้ทูลเกล้าถวายฎีกาถึงปัญหาเกี่ยวกับความเดือดร้อนที่ไม่มีตลาดจำหน่ายน้ำนมดิบ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการหาทางช่วยเหลือ
 
ต่อมาในปี ๒๕๑๓ นายทวิช กลิ่นประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี ในขณะนั้น ได้มีความสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรที่ตำบลหนองโพและบริเวณใกล้เคียง และเมื่อทราบถึงปัญหาของผู้เลี้ยงโคนม จึงได้ทูลเกล้าถวายเงินจำนวน ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาทแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมดังกล่าวซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรก็ได้ทรงนำเงินนี้ร่วมกับทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๑,๐๐๒,๐๐๐ บาทมาก่อสร้างและจัดตั้งโรงงานนมผงขึ้น ณ ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
 
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ออกแบบ โดยใช้ต้นแบบจากโรงนมผงสวนจิตรลดา (โรงนมผงสวนดุสิต) แต่ให้มีกำลังการผลิตเป็นสองเท่าพร้อมทั้งพระราชทานชื่อ “โรงนมผงหนองโพ” และได้เสด็จเปิดโรงงานนมผงหนองโพ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๕ โดยพระองค์กำหนดให้ดำเนินการบริหารโรงงานในรูปของบริษัท จำกัด ใช้ชื่อว่า “บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด” และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
 
ต่อมาในกลางปีพ.ศ.๒๕๑๗คณะกรรมการบริหารบริษัทได้พิจารณาเห็นว่าการผลิตภัณฑ์นมด้วยเครื่องจักรในขณะนั้นไม่เหมาะสมทางเศรษฐกิจ และผลิตภัณฑ์นมที่ได้ยังไม่ถูกหลักสุขภาพและ อนามัย ตลอดจนไม่ได้มาตรฐานสากล ประกอบกับการเลี้ยงโคนมในจังหวัดราชบุรี ได้แพร่หลายมากขึ้น ทำให้ได้น้ำนมดิบเพิ่มมากจึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรสร้างโรงงานหลังใหม่ เพื่อเตรียมรับน้ำนมดิบ ที่เพิ่มนั้นให้หมด โดยคณะกรรมการบริษัทมีมติให้กู้เงินจากบริษัทเงินทุนแห่งประเทศไทยจำนวน ๘ ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรผลิตนมใหม่ที่ได้มาตรฐาน
 
ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ขณะที่บริษัทกำลังดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรผลิตนมใหม่นั้น คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการรวมกิจการของบริษัทและสหกรณ์เข้าด้วยกันแล้วเนื่องจากสหกรณ์ได้ดำเนินการด้วยดีเป็นปึกแผ่นมั่นคงพอสมควร ประกอบกับการก่อสร้างโรงงานหลังใหม่สมควรที่สหกรณ์จะได้รับการบริหารไปตังแต่แรก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต
 
ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้โอนกิจการของบริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำกัดให้กับสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัดและพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชทานพระบรมราชานุมัติ
 
ดังนั้น สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด จึงได้รับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำกัดมาดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๘ เป็นต้นมา

โดยปัจจุบันสหกรณ์ใช้สถานที่เดิมของบริษัทเป็นสำนักงานและได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังจากโรงงานผลิตภัณฑ์นมหลังใหม่สร้างเสร็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารโรงงานผลิตภัณฑ์นมหลังใหม่พร้อมเจิมป้ายชื่อ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นได้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนเงิน ๓ แสนบาทเศษซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเงินทั้งหมดให้สหกรณ์นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาแก่บุตรหลานของสมาชิก และสหกรณ์นำเงินจำนวนนี้จัดตั้งเป็นมูลนิธิใช้ชื่อว่า มูลนิธิพระบารมีปกเกล้า ดำเนินการจัดสรรดอกผลเป็นทุนการศึกษาให้แก่บุตรหลานสมาชิกตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
 
 
โครงการเมืองสหกรณ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ น้ำพระทัยห่วงใยความเป็นอยู่เกษตรกร
 
เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังธุดงคสถานถาวรนิมิตร อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เพื่อกำหนดพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีเสียด ไว้สำหรับเกษตรกร ทำมาหากินได้ทุกฤดูกาล พื้นที่ประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ ซึ่งมีพื้นอยู่ใกล้กับธุดงคสถานถาวรนิมิต
 
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรบริเวณรอบ ๆ พื้นที่ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีเสียด อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก จึงได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานพัฒนาแหล่งน้ำและงานพัฒนาอาชีพของราษฎร มีพระราชดำรัสกับพระราชพิพัฒนาทร (ถาวร จิตตถาวโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งธุดงคสถานถาวรนิมิตและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เฝ้าฯรับเสด็จ ณ ธุดงคสถานฯ ความว่า
 
"ถ้ามีแหล่งน้ำเกิดขึ้นก็จะทำให้ป่าไม้ ดูชุ่มชื่นเขียวชอุ่ม เมื่อน้ำไหลผ่านไร่นาของเกษตรกร จะเป็นผลให้ทำไร่ทำนาได้ผลผลิต พอกินพอใช้เหลือกินก็ขายได้ในฤดูแล้งปลูกผักผลไม้ ให้เกิดความร่มรื่น เขียวขจีทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ชาวบ้านที่ทิ้งถิ่นที่อยู่เข้าไปขายแรงงานในเมือง และในกรุงเทพมหานครคงจะหันมาให้ความสนใจถิ่นที่อยู่ และกลับมาทำมาหากินที่บ้านเกิดเมืองนอนแน่นอน และให้เกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ที่เต็มไปด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ที่ปลูกไว้กินผลตามบ้านเรือน ภายในบ้านมีสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ มีเป็ดไก่ไว้กินไข่ เลี้ยงหมูไว้ขาย เลี้ยงปลาไว้กินไว้ขาย จัดบ้านเรือนให้สะอาด ถูกสุขอนามัยสร้างให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าเดิม เป็นเมืองน่าอยู่น่าอาศัย"
 
พระราชพิพัฒนาทร (ถาวร จิตฺตถาวโร) ประธานอุปถัมภ์มูลนิธิศาลาพระราชศรัทธา มูลนิธิถาวรจิตตถาวโร-วงศ์มาลัย จึงได้ขอพระราชทานจัดทำ “โครงการเมืองสหกรณ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

ต่อมามีการจัดตั้ง “สหกรณ์ศูนย์สาธิตสหกรณ์การเกษตรถาวรพัฒนา (กาฬสินธุ์) จำกัด” ขึ้นในพื้นที่หมู่ที่ ๑, ๗ บ้านโนนศิลาเลิง ต.โนนศิลาเลิง กิ่ง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เป็นสหกรณ์กลางในการประสานงานกับส่วนราชการ ตลอดเป็นแหล่งรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรแผนใหม่ไปสู่สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไป ซึ่งศูนย์สาธิตสหกรณ์การเกษตรถาวรพัฒนา (กาฬสินธุ์) จำกัด ได้ดำเนินการตามโครงการเมืองสหกรณ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริมาตั้งแต่ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๐ เป็นต้นมา
 
จากนั้นได้เริ่มดำเนินโครงการในระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑ - พ.ศ. ๒๕๔๕) ในพื้นที่นำร่อง จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดน่านและจังหวัดนครนายก ปรากฏว่า การดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ราษฎรในพื้นที่โครงการเข้าใจหลักและวิธีการสหกรณ์มีสหกรณ์เป็นองค์กรหลักในการให้บริการชุมชนในการพัฒนาอาชีพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมและสหกรณ์ยังเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับส่วนราชการตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อนำไปถ่ายทอดสู่สมาชิกสหกรณ์ และประชาชนทั่วไปตามที่ได้ทรงมีพระราชดำริไว้
 
ในการดำเนินโครงการเมืองสหกรณ์ฯ จะเริ่มจากการเผยแพร่หลักและวิธีการสหกรณ์ โดยใช้ความศรัทธานำเพื่อสร้างจิตสำนึกและอุดมการณ์ในการรวมกลุ่มของราษฎรในพื้นที่ขยายผล จนมีความเข้าใจและพร้อมแล้วจึงจะดำเนินการขอจัดตั้งเป็นสหกรณ์และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงกันในขบวนการสหกรณ์ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านการแลกเปลี่ยนสินค้า การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ โดยได้ส่งเสริมให้ดำเนินการไปถึงทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง เพื่อสามารถ รวมกันขายผลผลิต รวมกันแปรรูป รวมกันซื้อปัจจัยการผลิต โดยวิธีสหกรณ์ ต่อเมื่อธุรกิจทั้งสองดำเนินไปได้ด้วยดีมีทุนเพียงพอ ราษฎรเรียนรู้การ สหกรณ์จากการทำธุรกิจทั้งสองแล้ว จึงดำเนินธุรกิจสินเชื่อในภายหลัง
 
พร้อมทั้งเน้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสำคัญ ซึ่งมีโครงการหลายโครงการที่สหกรณ์ภายในโครงการเมืองสหกรณ์ ได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ อาทิ โครงการธนาคารโค-กระบือ โครงการแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่ โครงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยชีวภาพ โครงการส่งเสริมการผลิตพันธุ์ข้าวเหนียว กข.๖ โครงการส่งเสริมอาชีพเสริมให้แก่สมาชิก  โครงการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น  โครงการส่งเสริมด้านการศึกษา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์โดยให้ชุมชนร่วมบริหารจัดการ โครงการอบรมธรรมะเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่วัดป่าศรีถาวรนิมิต และการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลถาวรนิมิต ให้การศึกษาแบบศึกษาสงเคราะห์
 
สำหรับสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ในโครงการ ได้จัดให้มีสวัสดิการแก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ และสนับสนุนให้จัดที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่ มีการวางระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นโดยประหยัด มีที่ดินแปลงกลาง เพื่อให้กลุ่มสตรีและเยาวชนในพื้นที่ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มีงานทำในพื้นที่ส่งผลดีต่อสถาบันครอบครัว และใช้สำหรับทำการทดลองสาธิตเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่าง ๆ ด้วย
 
ความสำเร็จของโครงการเมืองสหกรณ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งผลทำให้ราษฎรในพื้นที่โครงการมี สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นสามารถให้บริการแก่สมาชิกและราษฎรในชุมชนได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันราษฎรในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียงมีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักและวิธีการสหกรณ์ ส่งผลให้ราษฎรในชุมชนนั้นสามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันได้ในที่สุด ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งราษฎรในพื้นที่โครงการเมืองสหกรณ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่างมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานพระราชดำริในการดำเนินโครงการเมืองสหกรณ์ฯด้วยน้ำพระทัยที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่เกษตรกรเสมอมา


UploadImage
 
โล่พระราชทานสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ความภาคภูมิใจของชาวสหกรณ์
 
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่างานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง นอกจากจะเป็นวันสำคัญที่พี่น้องเกษตรกรไทย โดยเฉพาะชาวนาจะถือว่าวันนี้เป็นวันฤกษ์ดี ที่จะเริ่มทำนา และในวันดังกล่าวจะมีพี่น้องประชาชนและเกษตรกรเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และรอเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่พระยาแรกนา ได้หว่านลงในแปลงนาพระราชพิธี เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อ หรือเก็บไว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคล แก่ตนเองและครอบครัว
 
ยังเป็นอีกวันหนึ่งที่ชาวสหกรณ์เฝ้ารอคอยอีกวันหนึ่ง เพราะจะเป็นวันที่ชาวสหกรณ์จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานโล่รางวัล แก่เกษตรกร สถาบันเกษตร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติที่มีผลงานดีเด่นประจำปีนั้น ๆ


UploadImage
 
สืบเนื่องจาก มติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 เห็นชอบโครงการขอรับพระราชทานรางวัลสำหรับสหกรณ์ ที่มีผลงานดีเด่น และ ระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขอรับพระราชทานรางวัลสำหรับสหกรณ์ ที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. 2517 กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการตามมตินี้ โดยแต่ละปีให้มีการคัดเลือกสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่นแต่ละประเภทสหกรณ์ และจัดเป็น 3 ระดับ คือ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ แต่ละระดับนั้น ปกติจะมี (หรือไม่มี) สหกรณ์ได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 อันดับ 2 อันดับ 3 หรือรางวัลชมเชย
 
ระยะต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศ เรื่องการคัดเลือกเกษตรกร สถานบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ใช้ แทนระเบียบปี 2517 โดยกำหนดหลักเกณฑ์กลางในการคัดเลือก ทั้งนี้ได้มีการประกาศออกมาหลายครั้ง เนื่องจากเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในต่างละช่วงเวลานั้น ๆ


UploadImage
 
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้ส่วนราชการในสังกัดรวมทั้งกรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติในแต่ละสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อยกย่อง ประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ข้อมูลของผู้ชนะเลิศให้สาธารณชนได้เป็นที่รู้จัก เพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนา อาชีพทำนา

ทั้งนี้เกษตรกร สถาบันเกษตร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับพระราชโล่รางวัลจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภิพลอดุลยเดช ซึ่งเสด็จพระราชทานรางวัล ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
 
ณ พลับพลาที่ประทับ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยในการคัดเลือก เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ในการคัดเลือกเป็นหลักเกณฑ์กลางสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ยึดถือเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติซึ่งแต่ละหน่วยงาน สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ดำเนินการคัดเลือกได้ เพื่อให้การดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติในส่วนที่กรมการข้าวรับผิดชอบ ได้แก่ เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนดีเด่นประเภทข้าวหอมมะลิ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวดีเด่นประเภทข้าวอื่น ๆ และกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดีเด่น สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ จึงได้มีการจัดทำคู่มือการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมการข้าวขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางให้แก่เจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานต่อไป
 
กว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแต่ละแห่งจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นสถาบันเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติ และได้รับโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น จะต้องผ่านการคัดเลือกมาตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภาค มาจนถึงระดับชาติ หลักเกณฑ์การคัดเลือกในเบื้องต้น พิจารณาจากการที่มีผลการดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ต้องมีข้อมูลย้อนหลัง (งบฯ การเงิน) เพื่อการตรวจสอบไม่น้อยกว่า 3 ปี ถ้าเป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เคยได้รับพระราชทานโล่รางวัลดีเด่นแห่งชาติมาแล้ว จะต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากปีที่ได้รับรางวัล จึงมีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกได้และต้องเป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านระดับได้มาตรฐานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในปีล่าสุดก่อนเข้ารับการคัดเลือก
 
รางวัลสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ถือเป็นเกียรติยศและรางวัลแห่งความสำเร็จจากความร่วมแรง ร่วมใจ ของคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการและสมาชิกสหกรณ์ที่มีส่วนร่วมกัน พัฒนาองค์กรของตนเองให้มีความเจริญก้าวหน้า แต่การจะรักษาความดีงามและความสำเร็จให้คงอยู่อย่างยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่า จึงต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันและส่งเสริม เพื่อรักษาความสำเร็จนี้ให้อยู่ได้ โดยสหกรณ์ดีเด่นจะได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพิงของสมาชิกสหกรณ์ และเป็นแบบอย่างให้สหกรณ์อื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำกลับไปใช้ในการพัฒนาองค์กรของตนเองต่อไป