สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

ประชุมพิจารณาสรุปประเด็นปัญหาของขบวนการสหกรณ์ ในการเสวนาเชิงวิชาการออนไลน์ฯ

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 02 มิ.ย. 2564 เวลา 11:23 น.
 791
UploadImage


ประชุมพิจารณาสรุปประเด็นปัญหาของขบวนการสหกรณ์
ในการเสวนาเชิงวิชาการออนไลน์ฯ
 
(2 มิถุนายน 2564) นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) เป็นประธานในการประชุมพิจารณาสรุปประเด็นปัญหาของขบวนการสหกรณ์ในการเสวนาเชิงวิชาการออนไลน์ฯ ซึ่งจะจัดขึ้นเนื่องในวันสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ในการประชุมดังกล่าวมีผู้ทรงคุณวุฒิในขบวนการสหกรณ์เข้าร่วมประชุม อาทิ นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ที่ปรึกษา สสท. นายสิรวิชญ์ ไพศาสตร์ รศ.จุฑาทิพย์ ภัทรวาท นายทรงพล พนาวงศ์ นายไพฑูรย์ แก้วเพทาย เป็นต้น

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานคณะกรรมการฯ สสท. กล่าวถึงความเป็นมาของงานวันสันนบาตสหกรณ์แห่งปะเทศไทยว่า “เนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ที่มีผลมาจากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2511 โดยเปลี่ยนสถานะสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ ที่เป็นชุมนุมสหกรณ์ มาเป็นสถาบันชื่อว่า “สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย” (The Cooperative League of Thailand: CLT) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าแก่กิจการสหกรณ์ ทุกประเภททั่วราชอาณาจักร อันมิใช่เป็นการแสวงหากำไร  หรือรายได้มาแบ่งปันกัน  โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2511 เป็นต้นมา และถือเป็นวันสถาปนาสันนิบาตสหกรณ์ฯ อย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

“คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ฯ ชุดที่ 25 มีกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ขึ้นอีกคำรบหนึ่ง (ครั้งที่หนึ่งวันที่  20  มิถุนายน 2562  ณ  โรงแรมรามา การ์เด้นส์  กรุงเทพฯ) ตามแนวคิดให้เป็นวันอันทรงความหมายของคำว่า “สันนิบาตสหกรณ์” อย่างแท้จริง นั่นคือการประชุมรวมกันของสหกรณ์ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับพระราชบัญญัติสหกรณ์ที่กำหนดให้ มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของสหกรณ์ สนับสนุนและช่วยเหลือสหกรณ์  เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการสหกรณ์  เป็นตัวแทนของสหกรณ์เพื่อรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากการสนับสนุนของภาครัฐ  องค์กรระหว่างประเทศ  และความร่วมมือกับภาครัฐในการส่งเสริมสหกรณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ขบวนการสหกรณ์”

“แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) สันนิบาตสหกรณ์ฯ จะยังคงแนวคิดของการเป็นองค์กรที่ประชุมรวมกันของสหกรณ์ทุกประเภท และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมแนวคิดในการแก้ไขปัญหาบูรณาการร่วมกันระหว่างขบวนการสหกรณ์และภาครัฐที่เกี่ยวข้องตามยุควิถีใหม่ จึงได้กำหนดจัดการเสวนาทางวิชาการออนไลน์ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “เวทีร่วมคิด ร่วมสนทนา มุมมองการแก้ไขปัญหาสหกรณ์ไทยอย่างยั่งยืน” เนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกันของนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนขบวนการสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อสะท้อนปัญหาจากทุกหน่วยงานนำมาหารือและกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยได้กำหนดรูปแบบเป็นการเสวนาวิชาการออนไลน์ตามรายละเอียดโครงการและสรุปประเด็นปัญหา 9 ประเด็นหลัก เพื่อเป็นแนวทางในการระดมความเห็นอันจะนำไปสู่การบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสหกรณ์ในแนบท้ายระเบียบวาระการประชุม”

การประชุมวันนี้จัดขึ้นเพื่อพิจารณาสรุปประเด็นสาระสำคัญของปัญหาหลัก 9 ข้อ และข้อเสนอแนะเพิ่มเติม รวมทั้งรูปแบบการเสวนาวิชาการออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “เวทีร่วมคิด ร่วมสนทนา มุมมองการแก้ไขปัญหาสหกรณ์ไทยอย่างยั่งยืน” ซึ่ง 9 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 : ความสมดุลของเกณฑ์การรับรู้รายได้ การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ การจัดสรรกำไรสุทธิ และประโยชน์ของสมาชิก ผลงานของคณะผู้บริหาร กับ ความมั่นคงของสหกรณ์ในมุมของสหกรณ์และภาครัฐ

ประเด็นที่ 2 : บทบาทของคณะผู้บริหารสหกรณ์ที่ควรจะเข็นในมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ

ประเด็นที่ 3 : บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลที่ควรจะเป็นในมุมมองของสหกรณ์

ประเด็นที่ 4 : หลักกฎหมายเอกชน "เมื่อไม่มีกฎหมายห้าม ปัจเจกชนย่อมมีอิสรภาพอย่างสมบูรณ์
(ย่อมทำได้)"กับหลักกฎหมายมหาชน "ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ" ภาครัฐนำมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลสหกรณ์ในฐานะเอกชนอย่างไร ในมุมของสหกรณ์และภาครัฐ

ประเด็นที่ 5 : ชอบเขตและการเปิดกว้างสำหรับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ที่พึงประสงค์ในมุมมองของประชาชน และ หน่วยงานราชการ

ประเด็นที่ 6 : เมื่อมีหน้าที่แล้ว อะไรคืออำนาจของผู้ตรวจสอบกิจการที่ควรจะมี เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานภายในแทนบรรดาสมาชิก ในมุมมองของสหกรณ์และภาครัฐ

ประเด็นที่ 7 : ควรจะมีกองทุนรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์ ซึ่งมีที่มาจากเงินสำรองหรือกำไรสุทธิของสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือสหกรณ์ที่ประสบปัญหาการดำเนินงานตามหลักการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือไม่อย่างไร

ประเด็นที่ 8 : สันนิบาตสหกรณ์ฯ และชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศ ควรมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมสหกรณ์

ประเด็นที่ 9 : สันนิบาตสหกรณ์ฯ และชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศ ควรมีบทบาทอย่างไรในการสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ

 
UploadImage

UploadImage