สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

“สหกรณ์กับการพัฒนาเด็กในถิ่นทุรกันดาร”

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 25 ม.ค. 2564 เวลา 08:50 น.
 1096
UploadImage

“สหกรณ์กับการพัฒนาเด็กในถิ่นทุรกันดาร”
 
หลายท่านคงได้มีโอกาสทราบข่าวการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในจังหวัดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถิ่นทุรกันดาร เด็กและเยาวชนขาดแคลนอาหารที่จะบริโภค เป็นโรคขาดสารอาหารและมีมาตรฐานทางการศึกษาต่ำ สุขภาพร้างกายอ่อนแอเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย
ทรงห่วงใยเยาวชนเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต
 
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ปัจจุบันได้ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริฯ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 8 โครงการ ดังนี้
๑.โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
๒.โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน
.โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดา
๔.โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา
๕.โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์
๖.โครงการฝึกอาชีพ
๗.โครงการส่งเสริมสหกรณ์
๘.โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
สำหรับโครงการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน ทรงมีพระราชประสงค์ให้ใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาสและเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชาวบ้านในชุมชน ซึ่งการปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับหลักและวิธีการสหกรณ์ให้แก่เยาวชน จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และมีทักษะในการทำงานร่วมกัน ฝึกการวางแผน ร่วมกันคิดร่วมกันทำและแก้ไขปัญหา และทรงพระราชทานบทความลงพิมพ์ในหนังสือ 40 ปี โรงเรียน ตชด. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2539 ความว่า “… เรื่องสหกรณ์โรงเรียนก็เป็นงานหนึ่งที่ข้าพเจ้าพยายามจัดให้มีขึ้นทุกแห่ง..” และทรงมีพระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2535 ความว่า “…ก็ตั้งใจจะให้เป็นการฝึกนักเรียนให้มีความรู้ มีความเคยชินกับระบบการทำงานร่วมกันตามแบบสหกรณ์ ฝึกตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ ได้ชินไป ต่อมาก็ถ้าเป็นชาวบ้าน เป็นราษฎรเต็มที่แล้วก็จะได้เข้าใจหลักการและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ใหญ่ต่อไปได้…”
 
ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนองพระราชดำริในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาสหกรณ์แก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำการจัดกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนต่างๆ จนถึงปัจจุบันได้มีการขยายผลการสอนวิชาสหกรณ์ไปทั่วประเทศ ทั้งในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนในสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนสอนศาสนา
 
กิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนจะเริ่มจากการอบรมครูผู้สอนวิชาสหกรณ์ในโรงเรียนให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสหกรณ์ในเบื้องต้น ก่อนจะกำหนดหลักสูตรการสอนและผลิตสื่อการสอนวิชาสหกรณ์ ทำควบคู่กับกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนในภาคปฏิบัติ 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมการเกษตรและอาชีพ สอนให้เด็กได้ปลูกพืชผัก เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ส่วนกิจกรรมร้านค้าสหกรณ์ จำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเขียนและผลิตภัณฑ์ของนักเรียน และรับซื้อผลผลิตการเกษตรจากฟาร์มของโรงเรียน เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน กิจกรรมออมทรัพย์ ส่งเสริมการออม สร้างวินัยทางการเงินให้แก่เด็ก รู้จักวางแผนใช้จ่ายเงิน ประหยัดอดออม และมีความซื่อสัตย์ กิจกรรมการศึกษาและสวัสดิการ เป็นการส่งเสริมความรู้ให้แก่คณะกรรมการสหกรณ์นักเรียนหรือสมาชิก โดยพานักเรียนไปทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานสหกรณ์กับโรงเรียนต่างๆ และเรียนรู้การดำเนินงานสหกรณ์จากของจริง
 
กิจกรรมสหกรณ์สามารถบูรณาการการสอนควบคู่กับวิชาต่างๆ ได้ ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมร้านค้าสหกรณ์ช่วยฝึกนักเรียนให้รู้จักขายสินค้า การทอนเงิน การเช็คสินค้า การทำบัญชีรับ-จ่าย การจดบันทึกการประชุม ทุกครั้งที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สิ่งที่ทรงเน้นย้ำคือ ให้เด็กฝึกและลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เช่น การทำบัญชีรับจ่าย ก็ให้ลงบัญชีด้วยมือ เพื่อฝึกบวกลบเลข จะได้รู้ผลกำไรหรือขาดทุน และนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนของสหกรณ์ หรือการจดรายงานการประชุม ก็ให้เขียนด้วยลายมือ เพื่อฝึกคัดลายมือไปในตัว พระองค์ท่านตรัสว่าระบบสหกรณ์เป็นระบบที่ดีและเหมาะกับคนไทย เราต้องปลูกฝังความรู้เรื่องสหกรณ์ตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาบริหารสหกรณ์หรือประกอบอาชีพอื่นๆ ก็จะสามารถนำความรู้ด้านสหกรณ์ไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต

                                                                  
วสิษฐ์พล พุทธพงษ์
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ