สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

เปรียบเทียบ องค์การสหกรณ์ กับ องค์การอื่น

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 11 ม.ค. 2564 เวลา 10:05 น.
 2394
UploadImage
 
เปรียบเทียบ องค์การสหกรณ์ กับ องค์การอื่น
พีระพงศ์ วาระเสน
 
1. สหกรณ์ กับ บริษัท 
1.1 วัตถุประสงค์ การรวมกัน
สหกรณ์มีความมุ่งหมายเพื่อให้บริการระหว่างกันในหมู่สมาชิกสหกรณ์ (เจ้าของสหกรณ์) ตามปรัชญาสหกรณ์ “ช่วยตน ช่วยกัน (Self help Mutual help)
ส่วนบริษัท รวบรวมผู้ถือหุ้นจัดตั้งขึ้น เพื่อทำการค้าหากำไรกับบุคคลภายนอก

1.2 ลักษณะการรวม
สหกรณ์เป็นองค์กรมุ่งการรวมคนเป็นสำคัญ และเพื่อให้เป็นกลุ่มคนที่เครือข่ายกว้างขวางทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สหกรณ์จึงเป็นการรวมกันของผู้มีคุณลักษณะเพื่อร่วมมือร่วมใจ แบ่งปันกัน อย่างสร้างสรรค์ พัฒนา
บริษัท ถือหลักการรวมทุนเป็นสำคัญ บุคคลทีมีเงินสามารถเข้าถือหุ้นของบริษัทได้ ทั้งนี้เพื่อผลตอบแทนในรูป กำไรสูงสุด (Maximize profit)

1.3 หุ้นและมูลค่าหุ้น
สหกรณ์ไม่จำกัดจำนวนทุนเรือนหุ้นก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ดังนั้น สหกรณ์จึงมีหุ้นที่จะจำหน่ายให้แก่สมาชิกใหม่อยู่เสมอ ตามหลักการสหกรณ์ข้อที่ 1 รับสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง ราคาหุ้นของสหกรณ์จึงคงที่
หุ้นของสหกรณ์มีมูลค่าต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีกำลังทรัพย์น้อยและที่มีความสมัครใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ได้

สำหรับหุ้นของบริษัท กฎหมายบังคับให้ต้องกำหนดจำนวนทุนเรือนหุ้น และต้องมีผู้จองหุ้นไว้ครบจำนวนก่อนขอจดทะเบียนตั้งขึ้นเป็นบริษัทด้วยเหตุนี้ถ้ากิจกรรมของบริษัทสามารถจ่างเงินปันผลได้สูงก็มี ผู้ต้องการซื้อหุ้นของบริษัทมากขึ้น จึงขึ้นลงได้ตาม อุปสงค์ และ อุปทาน ของหุ้น เหมือนสินค้าอย่างหนึ่ง นอกจากนี้มูลค่าหุ้นของบริษัทมักกำหนดไว้เพื่อให้ได้เงินทุนตามจำนวนที่ต้องการ

1.4 การควบคุมและการออกเสียง
สหกรณ์ถือหลักการรวมคนจึงให้ความเคารพต่อสิทธิของบุคคลเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้สมาชิกของสหกรณ์ทุกคนไม่ว่าจะถือหุ้นมากหรือน้อยย่อยมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนให้สหกรณ์ได้คนละหนึ่งเสียง(one member one vote) ตามหลักการสหกรณ์ข้อที่ 2 การใช้สิทธิออกเสียงสมาชิกออกเสียงด้วยตนเอง ไม่มอบให้บุคคลอื่นออกเสียงแทน
ส่วนบริษัท ถือการรวมทุนค่าหุ้นเป็นสำคัญ ออกเสียงตามจำนวนหุ้นที่ถือ และสามารถมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมาออกเสียงแทนได้ อำนาจในบริษัทจึงตกอยู่กับผู้ถือหุ้น

1.5 การแบ่งผลประโยชน์
ในสหกรณ์การรวมทุนของสมาชิกสหกรณ์(เจ้าของสหกรณ์) ตั้งสหกรณ์ขึ้นเพื่อบริการระหว่างสมาชิกสหกรณ์(เจ้าของสหกรณ์) สมาชิกตามที่ต้องการ หากเกิดมีส่วนเกิน (Surplus) ขึ้น สมาชิกจะเฉลี่ยคืนไปทั้งหมด เฉลี่ยคืนไปบางส่วน หรือ นำไว้ขยายกิจการการให้บริการ โดยการพิจารณาตัดสินใจของสมาชิก หรือในกรณีมีส่วนขาด (Deficit) เมื่อต้องการยังคงบริการของสหกรณ์ต่อไป สมาชิกก็ตัดสินใจร่วมกันในการระดมทุนเพิ่มได้ เพื่อให้บริการที่ต้องการยังคงอยู่ต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่สมาชิกได้รับบริการที่พึงพอใจจากสหกรณ์ หรือมีความสุขจากบริการของสหกรณ์ที่ตนเองเป็นเจ้าของ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ที่ไม่เป็นตัวเงิน อาจเป็นผลตอบแทนทางสังคม และวัฒนธรรม ต่อชุมชนที่สหกรณ์ตั้งอยู่ก็ได้
บริษัท จะทำการติดต่อซื้อขายกับ ผู้ถือหุ้น หรือ บุคคลภายนอกที่ไม่ได้ถือหุ้น ก็ได้ ผู้ถือหุ้นในบริษัท จำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ถือ
 
2. สหกรณ์กับรัฐวิสาหกิจ
สหกรณ์มีสมาชิกเป็นเจ้าของ ร่วมมือกัน ด้วยความสมัครใจ และผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติมหลังจากก่อตั้งแล้ว ต้องเป็นที่ยอมรับของสมาชิกส่วนใหญ่ในเรื่องคุณสมบัติ สหกรณ์ดำเนินการให้บริการที่สมาชิกสหกรณ์ (เจ้าของสหกรณ์) พึงพอใจ ตามความต้องการของสมาชิก
รัฐวิสาหกิจ เป็นองค์การที่รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อาจมีโครงสร้างเช่นเดียวกับหน่วยธุรกิจเอกชนหรือมีโครงสร้างอย่างหน่วยงานของราชการ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลกำไร จากการให้บริการประชาชน
 
3. สหกรณ์ กับองค์กรการกุศล
สหกรณ์ยึดมั่นในปรัชญา ช่วยตน ช่วยกัน (self help mutual help) เป็นองค์กรอิสระพึ่งพาตนเอง
องค์กรการกุศล เป็นการช่วยเหลือจากภายนอก ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็ว และคุณภาพในการช่วยเหลือ
 
4. สหภาพสหกรณ์ กับสหภาพแรงงาน
สหภาพสหกรณ์ (Co-operative Union) เป็นองค์กรสูงสุดของขบวนการสหกรณ์ในประเทศนั้น ๆ มักจะมีหน้าที่เพื่อให้การศึกษา อบรม ข้อมูลข่าวสาร และ เชื่อมโยงเครือข่ายในขบวนการสหกรณ์ทั้งภายประเทศ และระหว่างประเทศ เรียกว่า สันนิบาตสหกรณ์ หรือสหพันธ์สหกรณ์ หรือองค์กรกลางสหกรณ์ ก็ได้
 
สหภาพแรงงาน (Trade Union) คือการรวมตัวกันของกลุ่มลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการดำเนินการตาม หรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง