สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บริบทของสหกรณ์การเกษตรในระบบเศรษฐกิจ-สังคม

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 11 ม.ค. 2564 เวลา 09:15 น.
 1694
UploadImage
\
บริบทของสหกรณ์การเกษตรในระบบเศรษฐกิจ-สังคม
 
นางสาวสมพิศ เจือทอง
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ
 
 
“ความหมายของสหกรณ์การเกษตร” (กรมส่งเสริมสหกรณ์) หมายถึง สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ผู้มีอาชีพทางการเกษตรรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อนายทะเบียนสหกรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจกรรมร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของสมาชิก และนำไปสู่การยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น

“บทบาทสำคัญของสหกรณ์การเกษตร” สหกรณ์ทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร และเป็นกลไกในการจัดการธุรกิจ การรวมซื้อ รวมขาย และสร้างโอกาสทางการตลาดแก่เกษตรกร ทั้งด้านการวางแผนธุรกิจ การจัดหาปัจจัยการผลิต การรวบรวมและแปรรูป การส่งเสริมการเกษตรและบริการต่างๆ เพื่อให้สมาชิกมีอำนาจการต่อรองราคา ลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสทางการตลาดตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ภายใต้แบรนด์สินค้าสหกรณ์ ตัวอย่างเช่น เครือข่ายผลไม้คุณภาพ เครือข่ายข้าวหอมมะลิ เครือข่ายยางพารา เครือข่ายมันสำปะหลัง เครือข่ายอ้อย เครือข่ายข้าวโพด ฯลฯ และสามารถรักษาเสถียรภาพและตรึงราคาสินค้าและบริการ ช่วยยกระดับราคาผลิตผลทางเกษตร (ซึ่งโดยปกติมักจะตกต่ำ) ให้สูงขึ้น เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของเกษตรกร แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ หรือการกระจายรายได้ของประชาชาติอย่างเป็นธรรม เพราะระบบสหกรณ์จะกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนอย่างเที่ยงธรรม โดยการที่ประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของและควบคุมธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม และบริการของตนเอง ผลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจึงตกเป็นของประชาชนผู้เป็นสมาชิก ชี้ให้เห็นว่าสหกรณ์มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม อันช่วยนำความมั่นคงมาสู่ประเทศชาติ สหกรณ์สามารถที่จะรับสนองโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการศึกษา โครงการปฏิรูปที่ดิน โครงการปรับปรุงการตลาด ฯลฯ มักมีผู้กล่าวว่าความเจริญก้าวหน้าของกิจการสหกรณ์ ย่อมเป็นเครื่องชี้วัดอันสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้นได้พัฒนาไปแล้วเพียงใด ทั้งนี้เพราะกิจการของสหกรณ์นั้น เป็นผลที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากเหตุที่ดี ได้แก่ ประชาชนมีการศึกษาที่ดี ขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ สมัครสามัคคี ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายเอกชนหรือฝ่ายรัฐ ทั้งนี้ในทางตรงกันข้ามสหกรณ์จะเจริญก้าวหน้าขึ้นมาไม่ได้เลย หากมีการเอารัดเอาเปรียบ การขูดรีด เบียดเบียน คดโกง ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่แก่คนส่วนน้อย การบริหารงานอยู่ใต้อำนาจของคนเฉพาะกลุ่มไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่กีดขวางความก้าวหน้าของสหกรณ์ทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม

สำหรับเกษตรกรไทย สิ่งที่ภาครัฐของไทยควรให้ความช่วยเหลือคือ การให้การศึกษาและจัดผู้เชี่ยวชาญเข้าไปอบรมบุคลากรในสหกรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สหกรณ์สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งเป็นผลดีต่อสมาชิกสหกรณ์เองและลดภาระของภาครัฐ อันจะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต