สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ “ทุ่งปราสาท” ปลูกด้วยมือ ทำด้วยใจ สร้างกำไรให้ชุมชนและคนกิน

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 04 ธ.ค. 2563 เวลา 22:53 น.
 3727
UploadImage

 
ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ “ทุ่งปราสาท” ปลูกด้วยมือ ทำด้วยใจ สร้างกำไรให้ชุมชนและคนกิน
ข้าวหอมมะลิถิ่นอีสาน ก้าวไปไกลถึงไนจีเรีย
 
ข้าวหอมมะลิ (Thai jasmine rice) (Official name "Thai Hom Mali") เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในไทย มีลักษณะกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกที่ไหนในโลกไม่ได้คุณภาพดีเท่ากับปลูกในไทย และเป็นพันธุ์ข้าวที่ทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่รู้จักไปทั่วโลก 

เมื่อปี พ.ศ. 2497 นายสุนทร สีหเนิน พนักงานข้าว จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวหอมในเขตอำเภอบางคล้า ได้จำนวน 199 รวง แล้ว ดร.ครุย บุณยสิงห์ (ผู้อำนวยการกองบำรุงพันธุ์ข้าวในขณะนั้น)ได้ส่งไปปลูกคัดพันธุ์บริสุทธิ์และเปรียบเทียบพันธุ์ที่ สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง (ขณะนี้เป็นสถานีข้าวลพบุรี) ดำเนินการคัดพันธุ์ โดยนักวิชาการเกษตรชื่อนายมังกร จูมทอง ภายใต้การดูและของนายโอภาส พลศิลป์ หัวหน้าสถานีทดลองข้าวโคกสำโรง

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 ได้พันธุ์บริสุทธิ์ข้าวขาวดอกมะลิ 4-2-105 และคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ ข้าวได้อนุมัติให้เป็นพันธุ์ส่งเสริมแก่เกษตรกร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 โดยเกษตรกรทั่วไปเรียกว่า [ขาวดอกมะลิ 105] ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว [ขาวดอกมะลิ 105] จนได้ข้าวพันธุ์ [กข 15] ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ ข้าวทั้ง 2 พันธุ์เป็นข้าวหอมมะลิไทย
ข้าวหอมมะลิที่นิยมปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ พันธุ์ กข.15 ซึ่งปัจจุบันราคาข้าวหอมมะลิราคาตกต่ำลงมาเรื่อยๆ เนื่องจาก ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวหอมมะลิ 105 โดยผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 80-100 ถัง/ไร่ ปลูกได้หลายครั้งต่อปี และสามารถปลูกได้ดีในที่ลุ่มบริเวณที่ราบภาคกลาง ขณะที่ข้าวหอมมะลิ 105 นั้นจะให้ผลผลิตต่อไร่เพียง 30-40 ถัง/ไร่ และปลูกได้ดีในบางพื้นที่เท่านั้น ทางรัฐบาลจึงส่งเสริมให้ชาวนา เน้นการปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 มากกว่า

ความหอมของข้าวหอมมะลิ เกิดจากสารระเหยชื่อ 2-acetyl-1-pyroline ซึ่งเป็นสารที่ระเหยหายไปได้ การรักษาความหอมของข้าวหอมมะลิให้คงอยู่นานนั้นจึงควรเก็บข้าวไว้ในที่เย็น อุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส เก็บ ข้าวเปลือกที่มีความชื้นต่ำ 14-15% ลดความชื้นข้าวเปลือกที่อุณหภูมิไม่สูงเกินไป 

ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ คือ พันธุ์ข้าวหอมที่ไวต่อช่วงแสง โดยเป็นพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ซึ่งเดิมเป็นข้าวเจ้าหอมพันธุ์ดีจากอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้จากการรวบรวมข้าวจำนวน 199 รวง แล้วนำไปคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ปลูกในฤดูนาปี ซึ่งจะเป็นช่วงที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของข้าว เป็นระยะการสะสมของแป้งในเมล็ดข้าว ขณะที่อากาศหนาวเย็น เมื่อข้าวสุก แก่ และแห้ง เมล็ดข้าวจะมีความแกร่ง ใส เป็นเงาเลื่อมมัน มีท้องไข่น้อย และมีความหอมมันเป็นพิเศษ และเก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง คือช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม

ลักษณะข้าวเปลือก และข้าวกล้อง จะมีลักษณะเรียวยาว ไม่ต่ำกว่า 7 มิลลิเมตร และมีความหอมยาวนาน สีของข้าวกล้อง และข้าวสารมีสีขาวใส เป็นเลื่อมมัน ใสสวย เมื่อหุงสุกจะมีลักษณะอ่อนนุ่ม ชุ่มลิ้น กินอร่อย จึงนับได้ว่า ข้าวหอมมะลิ เป็น ข้าวไทย ที่นำชื่อเสียงมาสู่จังหวัดสุรินทร์

โดยจังหวัดสุรินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ทั้งหอม และอร่อยที่สุด กระทั่งมีคำพูดติดปากของชาวสุรินทร์ว่า “ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ หอม ยาว ขาว นุ่ม” ความหอมของข้าวเริ่มตั้งแต่เป็นต้นกล้า แทงช่อออก และระยะข้าวสุกแก่ ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวสาร จนถึงหุงสุกเป็นข้าวสวย ก็มีความหอมกรุ่นเป็นเอกลักษณ์พิเศษ ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดนำร่องจังหวัดหนึ่งในการพัฒนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่มีศักยภาพ ให้ผลผลิตเป็นข้าวปลอดสารเคมี และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากข้าวหอมมะลิที่ผลิตในแหล่งอื่นๆ ของประเทศ

สหกรณ์การเกษตรสมัชชาปราสาท จำกัด เป็นอีกสหกรณ์หนึ่งที่มีการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิสุรินทร์ สหกรณ์ดังกล่าวมีสมาชิก 303 ครัวเรือน สมาชิกประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ซึ่งอำเภอปราสาทเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตดินแดนภูเขาไฟ -จึงเหมาะกับการปลูกข้าวหอมมะลิ ทำให้ข้าวหอมมะลิ มีกลิ่นหอม นุ่ม รสชาติอร่อย

ปี 2560 สหกรณ์ได้เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ของรัฐบาล มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 194 ครัวเรือน พื้นที่ 3,600 ไร่เศษ สมาชิกประสบปัญหาหลักคือ ข้าวที่ผลิตได้มีราคาถูก ต่างคนต่างขาย ไม่มีอำนาจต่อรองราคาจากพ่อค้าได้ สหกรณ์การเกษตรสมัชชาปราสาท จำกัด โดยนางจรรยา แซ่ฮัว ประธานกรรมการ พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินการ ได้พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือสมาชิกในการหาตลาดรองรับข้าวเปลือกของสมาชิกมาโดยตลอด โดยสหกรณ์เป็นผู้ทำหน้าที่รวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกมาทำการสีแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อเพิ่มมูลค่าจำหน่าย จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ พร้อมกับผู้จัดการหาตลาดเพื่อจำหน่ายทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์

จนเมื่อประมาณเดือน กรกฎาคม 2563 จึงได้รู้จักกับบริษัท อาเมสซี่ เวิลด์ จำกัด โดยการแนะนำของคุณธนะชนติ์ ชลเรืองรัมย์ เด็กหนุ่มคนสุรินทร์ผู้มีสำนึกรักบ้านเกิดที่เห็นว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือชาวนาได้ สหกรณ์ฯจึงมอบให้นางสาวภณิดา สู้เหิม เลขานุการ และผู้จัดการไปรู้จักกับบริษัทฯ และคุณธนะชนติ์ ชลเรืองรัมย์ ได้ช่วยผลักดันโดยให้สหกรณ์เอาข้าวหอมมะลิสุรินทร์ไปนำเสนอต่อผู้บริหารบริษัท อาเมสซี่ เวิลด์ จำกัด พิจารณา

ในที่สุดบริษัทฯจึงได้มอบโอกาสดีนี้ให้แก่สหกรณ์การเกษตรสมัชชาปราสาท จำกัด ในการนำข้าวหอมมะลิสุรินทร์ส่งบริษัทในรูปแบบ พาร์ทเนอร์ โดยนำข้าวไปทำการตลาดบนแพลตฟอร์มของบริษัทที่มีฐานการตลาดหลักอยู่ในประเทศไนจีเรีย และประเทศอื่นในทวีปแอฟริกา และทั่วโลก ในครั้งนี้ให้สหกรณ์ฯทำส่งเพียง 1.5 ตัน เพื่อใช้แนะนำตลาดก่อน สหกรณ์ฯ เห็นว่าเป็นช่องทางในการช่วยเหลือสมาชิกอีกทางหนึ่ง จึงได้ตัดสินใจทำการตลาดกับบริษัท อาเมสซี่ เวิลด์ จำกัด และในอนาคตคาดว่าตลาดบนบนแพลตฟอร์มจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการทำการตลาดแบบ E-commerce จะเหมาะกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต

กล่าวได้ว่านี่เป็นก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่งของสหกรณ์การเกษตรสมัชชาปราสาท จำกัด ซึ่งเลือกที่จะใช้ช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทำให้สหกรณ์เป็นที่รู้จัก นำมาซึ่งรายได้เจือจุนหล่อเลี้ยงสหกรณ์ซึ่งท้ายที่สุดผลประโยชน์ทั้งหมดจะตกไปสู่สมาชิกของสหกรณ์เอง  นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจยิ่ง

สนใจข้าวหอมมะลิสุรินทร์ “ทุ่งปราสาท” ติดต่อได้ที่
สหกรณ์การเกษตรสมัชชาปราสาท จำกัด หมายเลขโทรศัพท์ 089 695 4153

 
UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage