สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

“ในหลวง” อันเป็นที่รักยิ่ง...ทรงเป็นมิ่งมงคลของชนไทย

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 04 ธ.ค. 2563 เวลา 08:50 น.
 981
UploadImage

 
“ในหลวง” อันเป็นที่รักยิ่ง...ทรงเป็นมิ่งมงคลของชนไทย
 
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในพุทธศักราช 2489 ช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงใช้พระราชอำนาจผ่านคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อเสด็จนิวัตและประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงสิ้นสุดภารกิจลง ทรงวางพระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างสมบูรณ์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ ตามที่ทรงเห็นสมควรเพื่อปกครองไพร่ฟ้าประชาชนด้วยทศพิธราชธรรมตามขัตติยราชประเพณี ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา พระราชทานแนวพระราชดำริแนะนำหน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
 
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมล้นด้วย “ธรรมะ” อย่างยิ่งดังพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ที่ทรงประกาศขณะประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะปกครองพระราชอาณาจักรโดยทศพิธราชธรรมจริยา ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493
 
เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมี พระอัจฉริยภาพในด้านการพัฒนาต่าง ๆ มาโดยตลอดนับตั้งแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติ พระองค์ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทั้งแผ่นดินซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่ประชาชนชาวไทยทั้งชาติ ดังจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อันได้แก่ โครงการหลวง เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ปัจจุบันโครงการนี้มีสถานีวิจัยโครงการหลวงอยู่หลายแห่ง เช่น สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ สถานีเกษตรหลวงปางดะ เป็นต้น มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธินี้ในหลวงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้ กิจกรรมที่เกิดจากมูลนิธินี้ ได้แก่ โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อแก้ไขมลพิษทางน้ำ โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 เป็นโครงการป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และเก็บกักน้ำไว้เพื่อใช้ เป็นต้น โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็นโครงการที่ในหลวงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโครงการอันหลากหลายในโครงการ ส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเพื่อเป็นโรงงานตัวอย่างและพระราชทานโอกาสให้บุคคลกลุ่มต่าง ๆ ที่สนใจเข้ามาดูงาน ตัวโครงการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ เป็นโครงการสนองแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร ส่วนอีกโครงการคือโครงการแบบกึ่งธุรกิจ เป็นโครงการทดลองแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตร มีการจัดผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายในราคาย่อมเยาในรูปแบบที่ไม่หวังผลกำไร แต่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนได้บริโภคสินค้าที่ผลิตได้มาตรฐานมีราคาไม่แพง โครงการจัดการน้ำ และโครงการฝนหลวง แม้ว่าเราไม่อาจจะควบคุมธรรมชาติได้ 100 % แต่โครงการของในหลวงสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและแก้ปัญหาฝนแล้งได้ ดังเช่นโครงการแก้มลิงซึ่งเป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยจัดให้มีสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพเพื่อทำหน้าที่เป็นบึงพักน้ำให้หน้าน้ำก่อนที่จะระบายลงทางระบายน้ำในทันที ส่วนปัญหาฝนแล้งในหลวงได้มีจัดให้มีการสร้างฝนเทียมเพื่อบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำในการเกษตร
 
นอกจากนี้ยังมีโครงการในพระราชดำริอีกมากมาย เช่น เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปรัชญานี้ชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ หากทุกคนปฏิบัติได้ตามที่ “พ่อ” สอนไว้เชื่อได้แน่ชีวิตจะมีความสุข มีอยู่ มีกิน ไม่อดอยาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติ และประชาชนสุดที่จะพรรณนา สมแล้วที่พสกนิกรชาวไทยต่างยกย่องเชิดชูให้พระองค์ท่านเป็น “พระบิดาของปวงชนชาวไทย”
 
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยึดมั่นในคำมั่นสัญญา ที่พระราชทานแก่อาณาประชาราษฎร์อย่างเคร่งครัด ดังความที่ตรัส ไว้ในปฐมบรม ราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ธรรมะที่ว่านี้คือ “ทศพิธราชธรรม” ซึ่งเป็นธรรมะ 10 ประการ สำหรับพระราชาทรงปฏิบัติในการปกครองบ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรืองมีความร่มเย็นเป็นสุขสันติ ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงปฏิบัติติดต่อกันมายาวนานถึง 70 ปี พระราชธรรม 10 ประการ ได้แก่ การให้ การสำรวมในศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความเป็นผู้อ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความไม่คลาดธรรม การบำเพ็ญและรักษาพระราชธรรมนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วอย่างชัดแจ้ง ว่าทรงกระทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและปวงชนชาวไทย ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่สมบูรณ์พรั่งพร้อมด้วยพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณ และพระขันติคุณทุกประการมาโดยตลอด ทั้งในยามที่ทรงพระเกษมสำราญและในยามที่ทรงเผชิญกับความยุ่งยากพระราชหฤทัย เป็นเหตุให้เกิดประโยชน์แก่ ประเทศและพสกนิกรชาวไทยถ้วนหน้า พระราชจริยวัตรนี้ยังเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาว โลกอีกด้วย
 
จึงกล่าวได้ว่า ทรงเป็นมหาราชที่เป็นขวัญใจของมวลมนุษย์ด้วยการทรงรักษาสัจธรรมอันเป็นราชธรรมของมวลกษัตริย์และประมุขแห่งหมู่ชน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติได้ทรงบำเพ็ญและอุทิศพระองค์ ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รอบรู้ทุกด้าน ทรงมุ่งใช้พระปรีชาญาณเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นโดยมิได้มุ่งหวังประโยชน์ ส่วนพระองค์ ทรงใช้พระปรีชาญาณใช้พระบรมราโชบายในการแนะนำสั่งสอน เพื่อแก้ไขความทุกข์ของประชาชน ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริซึ่งเป็นแบบอย่างแก่พสกนิกร พระราชทานทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ และผู้ประสบภัยต่างๆ ให้พ้นจากความเศร้าและทุกข์ใจ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรภูมิพลอดุลยเดช เป็นที่ประจักษ์แก่ปวงพสกนิกรไทย ทั้งยังแผ่กำจรกำจายไปถึงต่างแดน ทั่วโลก พระมหาบารมีอันยิ่งใหญ่ไพศาลนั้น มากล้นเกินพรรณนาความได้ครบถ้วน หากแต่ทุกผู้คนทั่วไปต่างจงรักประจักษ์ใจและแซ่ซ้องเทิดทูนไว้เหนือเกล้า ทรงสถิตเป็น “ในหลวง” อันเป็นที่รักยิ่ง...ทรงเป็นมิ่งมงคลของชนไทย
 
 
บุญของคนไทย
 
มีเรื่องราวมากมายในประเทศไทยที่เราไม่รู้ หรืออาจคาดไม่ถึงว่า เป็นเพราะการทรงงานหนักของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงทำให้พวกเราชาวไทยสุขสบาย อยู่ดีกินดีเช่นทุกวันนี้
 
กว่า 70 ปีที่ทรงตรากตรำทำงานหนัก ไม่มีวันหยุดพักผ่อนเป็นเวลากว่า 23,000 วัน กับการเดินทางไปทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นระยะทางรวมกันกว่า 800,000 กิโลเมตรเพื่อพบปะประชาชนในทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ทุกจังหวัด ไปรับฟังปัญหาของประชาชนด้วยพระองค์เอง และนำปัญหานั้นกลับมาคิดค้นหาแนวทางแก้ไขให้ โดยทรงใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเป็น “บ้าน” ของพระองค์ท่าน เป็นห้องทดลองและห้องวิจัยขนาดใหญ่ เพื่อนำผลการวิจัยที่ได้ไปแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น ดินไม่อุดมสมบูรณ์ น้ำล้น น้ำแล้ง ทั้งเขื่อนและฝนหลวง แปลงสาธิตพืชผัก พัฒนาพันธุ์ต่างๆ รวมไปถึงต้นแบบฟาร์มโคนมแห่งแรกในประเทศไทย ที่ทำให้เราได้น้ำนมกินกันทุกวันนี้ การเลี้ยงปลานิลเพื่อสร้างแหล่งโปรตีนราคาถูก และการผลิตไบโอดีเซล การคิดค้นหาพลังงานทดแทนที่คนไทยได้ใช้ประโยชน์กันทุกวันนี้ ล้วนแต่มีแหล่งกำเนิดจากการวิจัยที่ห้องทดลองในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานทั้งสิ้น
 
ทุกวันที่ผ่านไปของคนไทยบนแผ่นดินนี้ คือ ความสุขสบายบนผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ทุกวันที่ผ่านมาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรคือ การทรงงานหนักและการคิดค้น เพื่อหาวิธีทำให้แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ร่มเย็นเป็นสุข เปรียบได้กับ “พ่อ” ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกๆ อยู่สุขสบายในบ้านหลังนี้การเสียสละความสุขส่วนพระองค์ และทรงงานหนักตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีนับแต่ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทย จึงทำให้ประเทศไทย เป็นแผ่นดินที่ร่มเย็นเป็นสุข อุดมสมบูรณ์ เป็นแผ่นดินที่คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาที่ได้เข้ามาอยู่อาศัย ล้วนมีความสุข และไม่อยากจากประเทศไทยไปอาศัยแผ่นดินอื่นไม่เพียงคนไทยที่ไม่อยากจากแผ่นดินไทยไปอยู่ที่อื่นๆ เรายังได้เห็นชาวต่างชาติมากมายที่เข้ามาทำงาน เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย มีความประทับใจในบ้านเมืองของเรา และสุดท้ายก็ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย ไม่กลับบ้านเกิดตนเอง
 
คนไทยรู้จักพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในฐานะพระมหากษัตริย์ประมุขของประเทศไทย เราได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์จากข่าวในพระราชสำนักในจอโทรทัศน์ ได้ยินเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ทรงประพันธ์ขึ้นอย่างไพเราะ และได้อ่านหนังสือที่เขียนยกย่องพระองค์ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แต่มองอีกแง่หนึ่ง เราอาจรู้จักพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรผ่านคำยกย่องสรรเสริญ แต่กลับไม่คุ้นเคยโครงการในพระราชดำริจำนวนมากที่ท่านต้องทรงงานอย่างหนักเพื่อคนไทยทุกคนได้อยู่ดีกินดี พระองค์ทรงพระราชทานความรู้ ปรัชญา และทฤษฎี เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนวิสัยทัศน์และวิธีการแก้ปัญหาของพระองค์ทั้งเรียบง่ายทำได้จริง และนำสิ่งที่อยู่รอบตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
 
นอกจากแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชทานเพื่อการพัฒนาประเทศแล้ว พระองค์ยังทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาของประชาชนไทยด้วยโครงการในพระราชดำริที่สนับสนุนการศึกษาเกิดขึ้นมากมาย เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองความรู้เหล่านี้ไม่ควรอยู่แค่ในหิ้งหนังสือ แต่ควรทำความรู้จักเพื่อประโยชน์ของเราทุกคน
 
ชีวิตคนเราไม่ง่าย ต้องพบเจออุปสรรคในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพเป็นระยะ สาเหตุมีทั้งมาจากคนไม่พร้อมเครื่องมือไม่อำนวย และฟ้าฝนไม่เป็นใจ เป็นทั้งปัญหาที่แก้ได้และแก้ไม่ได้โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนโดยเฉพาะ เริ่มต้นจากการสำรวจพื้นที่ปัญหา วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่แท้จริงลงมือแก้ไขด้วยวิธีการที่ง่ายและได้ผลที่สุด ติดตามผลสำเร็จเป็นระยะ หลายครั้งที่โครงการในพระราชดำริช่วยบรรเทาปัญหาที่ประชาชนแก้ไม่ตกกันมานานได้เป็นครั้งแรกในการทำโครงการแต่ละครั้ง แขนขาสำคัญคือหน่วยงานประสานงานระหว่างพระองค์และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะไม่ได้แก้ปัญหาได้ถาวร แต่อย่างน้อยโครงการในพระราชดำริก็ช่วยบรรเทาทุกข์ของประชาชนให้เบาบางลง ช่วยสนับสนุนหน่วยงานที่มีอยู่เดิมให้ทำงานได้ดีขึ้นหากเราศึกษากันดีๆ ก็น่าจะได้อะไรบางอย่างกลับไปบ้างจากวิธีคิดและวิธีทำของพระองค์จนทำให้เกิดโครงการต่อไปนี้ไม่มากก็น้อย
 
ไม่ใช่แค่ป่าไม้ ทะเล หรือภูเขา แต่ธรรมชาติอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ทั้งยังส่งผลต่อวิถีชีวิตประจำวันของเราอย่างเลี่ยงไม่พ้น ทั้งเรื่องอาหารการกิน การเดินทาง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเมื่อธรรมชาติเปลี่ยนแปลง คนที่ได้รับผลกระทบก็หนีไม่พ้นมนุษย์อย่างเรา เพียงแค่ป่าไม้ถูกตัดไม่กี่ไร่อาจส่งผลต่อภูมิอากาศและระบบนิเวศอย่างคาดไม่ถึง เรามักจะโทษมนุษย์ว่าเป็นตัวการทำลายธรรมชาติจนเสื่อมโทรมลงทุกวัน แต่หารู้ไม่ว่ามนุษย์ก็มีพลังสามารถฟื้นฟูธรรมชาติได้มากไม่แพ้กันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ตั้งแต่การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมดั้งเดิมให้คงอยู่ ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่เสื่อมโทรม ไปจนถึงโครงการป้องกันและเตือนภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงมีอาชีพที่ดี ทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจนได้ผลิตภัณฑ์เกษตรหลายชนิดส่งมาขายทั้งไทยและต่างประเทศ ทำกำไรให้กับผู้ผลิตได้เป็นกอบเป็นกำแม้ใครบอกว่าความเจริญของมนุษย์เป็นคู่ตรงข้ามกับความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ แต่หากได้ทำความรู้จักและเข้าใจธรรมชาติเพียงพอ เราก็จะมีจิตสำนึกในการดูแลธรรมชาติมากขึ้น สามารถอยู่เคียงคู่ธรรมชาติได้โดยไม่ทำร้ายกันและกัน
 
ย้อนกลับไปในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวไทยว่า ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ พระราชดำรัสนี้สร้างความปลื้มปีติให้ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นอย่างยิ่ง หลังจากวันนั้นภาพที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรโดยมีแผนที่และกล้องถ่ายรูปคู่กายกลายเป็นภาพที่คุ้นชินและติดตาคนไทยทั้งประเทศ เมื่อพระองค์ทรงรับรู้ทุกข์ภัยของคนไทย ทรงมีพระราชดำริให้แก้ปัญหานั้นด้วยวิธีการที่ง่าย และนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์กลายมาเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนทั่วประเทศ นอกจากการทรงงานที่แก้ปัญหาได้แม่นยำแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาหลายประการที่สามารถเป็น แรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไปได้ เช่น พระปรีชาด้านดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม ฯลฯ นอกจากนี้พระองค์ยังสนับสนุนกิจการต่างๆ ในประเทศให้ดำเนินไปด้วยดี เช่นการแพทย์ การทหาร การศึกษา การปกครอง ฯลฯ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่นผ่านมาแล้วหลายสิบปี
 
เมื่อมีคนพูดถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชดำรัสนี้ยังถูกหยิบมาพูดถึงบ่อยครั้ง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมาก เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลกด้วยเป้าหมายเดียวนั่นคือเพื่อให้ประชาชนไทยอยู่ดีกินดีและมีความสุขตราบนานเท่านาน