สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

พลังสหกรณ์ระนองฝ่าวิกฤตโควิด-19

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 25 มิ.ย. 2563 เวลา 20:31 น.
 784
UploadImage
 
พลังสหกรณ์ระนองฝ่าวิกฤตโควิด-19
 
            เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทำให้เกิดการเลิกกิจการ การปิดกิจการชั่วคราว การลดเงินเดือนค่าจ้าง การหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน หรือการเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน เป็นต้น รวมทั้งสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีอยู่ทุกสาขาอาชีพได้รับผลกระทบ มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่สามารถส่งชำระหนี้ให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้ตามกำหนด ส่งผลให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรขาดสภาพคล่องทางการเงิน และขาดความสามารถในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือผ่อนปรนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านภาระหนี้สินสำนักงานสหกรณ์จังหวัดระนองได้กำหนดมาตรการในการช่วยเหลือด้านหนี้สินของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรและสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ใน 2 มาตรการ ประกอบด้วยมาตรการที่ 1 การให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ (1) การผ่อนผันการชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ ให้สหกรณ์กำหนดมาตรการช่วยเหลือการผ่อนผันขยายเวลาการชำระหนี้การพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว สำหรับระยะเวลาใดเวลาหนึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (2) การถือหุ้นของสมาชิก การปรับลดหรืองดส่งค่าหุ้นรายเดือนการงดหักส่งค่าหุ้นตามส่วนเงินกู้ พิจารณาแล้วแต่กรณี โดยคำนึงถึงสถานะทางการเงินของสหกรณ์และระเบียบที่เกี่ยวข้อง มาตรการที่ 2 การให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระหนี้สินของสหกรณ์สหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้กองทุนพัฒนาสหกรณ์(กพส.)ได้รับการผ่อนผันขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในกรณีกู้เงินเพื่อวัตถุประสงค์ให้สมาชิกกู้ยืมในการประกอบอาชีพและเพื่อจัดหาสินค้ามาจำหน่าย โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดระนองได้แจ้งมาตรการและขอความร่วมมือจากสถาบันเกษตรกรในจังหวัดระนอง จำนวน 24 สหกรณ์ 17 กลุ่มเกษตรกร โดยมีสถาบันเกษตรกรต่าง ๆ นำมาตรการในการช่วยเหลือสมาชิกและชุมชน สรุปได้ดังนี้
 
  1. การให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ การปรับลด/งดอัตราการถือหุ้นของสมาชิก ระยะ 3 เดือน แก่สมาชิกจำนวน 4,149 ราย หุ้นรายเดือนลดลงกว่า 11.2 ล้านบาท, การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงร้อยละ 0.5 – 3.0 ระยะ 3 เดือน – 1 ปี มูลค่าต้นเงิน 413.7 ล้านบาท แก่สมาชิกจำนวน 4,386 ราย, การพักชำระหนี้ ระยะ 3 เดือน แก่สมาชิก 4,763 ราย ฯ
  2. การให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระหนี้สินของสหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ มีสหกรณ์ประสงค์เข้าร่วมมาตรการ จำนวน 1 สหกรณ์ ผ่อนผัน/ขยายระยะเวลาชำระหนี้เกินกู้ จำนวน 3.7 ล้านบาท ช่วยเหลือสมาชิกผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 150 ราย, การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (ร้อยละ 1) โครงการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวบรวมกาแฟในสถาบันเกษตรกร รวม 24 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลผลิตกาแฟ แก่ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ระนอง จำกัด สหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตกระบุรี จำกัด และสหกรณ์การเกษตรกระบุรี จำกัด
  3. การให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ แก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรและประชาชนทั่วไป อาทิขบวนการสหกรณ์ร่วมสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค ถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ฯ มูลค่ากว่า 4 หมื่นบาท แก่สมาชิก ประชาชน กว่า 600 คน และมอบเงินสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลระนอง จำนวน 30,000 บาท, สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลระนอง จำกัด มอบเงินสวัสดิการแก่สมาชิก 671 ราย ๆ ละ 1,500 บาท รวมเป็นกว่า 1 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการยังชีพระยะสั้นแก่สมาชิก, สหกรณ์บริการผู้ใช้น้ำเกาะพยาม จำกัด ลดค่าบริการน้ำประปาหน่วยละ 5 บาท เป็นเวลา 3 เดือนแก่สมาชิก 215 ราย, สหกรณ์รถยนต์โดยสารระนอง จำกัด ลดค่าบริการเดินรถรายเดือนแก่สมาชิก เป็นเวลา 3 เดือนแก่สมาชิก 36 ราย ฯ
 
            จากความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถาบันเกษตรกรในการให้ความช่วยเหลือสมาชิกและชุมชนระหว่างวิกฤตโควิด - 19 และเนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนว่าวิกฤตโควิด -19 จะจบลงเมื่อไร หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มนุษย์จึงจำเป็นต้องป้องกันตนเองเพื่อให้มีชีวิตรอดด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ผิดไปจากเดิม โดยมีการปรับหาวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ ควบคู่ไปกับความพยายามรักษาและฟื้นฟูศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจนำไปสู่การสรรค์สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีการปรับแนวคิด วิธีการจัดการ ตลอดจนพฤติกรรมที่เคยทำเป็นกิจวัตร เป็นความปกติใหม่จนถึงที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปก็ทำให้เกิดความคุ้นชินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปกติของผู้คนในสังคม สถาบันเกษตรกรก็ควรมีการปรับตัวในการให้บริการแก่สมาชิก เพื่อให้เป็นสถาบันที่แรกที่อยู่ใกล้ชิดและสามารถช่วยเหลือสมาชิกและชุมชนให้มีความอยู่ดี กินดี มีสันติสุขและสามารถฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ไปด้วยกัน
 
UploadImage

UploadImage


UploadImage
ณัชกช  นามจันทร์
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดระนอง