สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

อะไรเอ่ย... “หน้าเนื้อ.....ใจเสือ”

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 13:51 น.
 1769
 
UploadImage
 
 อะไรเอ่ย... “หน้าเนื้อ.....ใจเสือ”

โดย... รังสรรค์ ปิติปัญญา  
 
เกริ่นกันก่อน
            “หน้าเนื้อใจเสือ” เป็นคำพังเพยโบราณที่ผมไม่ค่อยจะนึกถึงเท่าไร และอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมคนโบราณถึงได้เอาคำ 2 คำ ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงมาไว้ด้วยกัน โดย “เนื้อ” น่าจะหมายถึงสัตว์ที่ไม่มีพิษมีภัยอะไรกับใคร แต่ “เสือ” เป็นสัตว์ที่เป็นอันตรายสุดๆ (ตามความคิดของคนนะ ไม่ใช่ความคิดของเสือ ซึ่งอาจจะมองว่า “คน” นั่นแหละอันตรายที่สุด) อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะวิพากษ์วิจารณ์ถึงลักษณะของสัตว์ แต่อยากจะนำเอาคำพังเพยที่มีนัยถึงลักษณะ และ พฤติกรรม ที่แตกต่างกันของคนหรือองค์กรที่ขบวนการสหกรณ์ให้ความสำคัญ และหวังว่าจะเป็น “ตัวช่วย” ให้พ้นภาวะวิกฤต ... แต่เปล่าเลย กลับ“หักหลัง” และทำให้สหกรณ์ต้องเจอปัญหาหนักยิ่งขึ้นไปอีก
 
สถาบันการเงิน... “หน้าเนื้อใจเสือ”?
            เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย เชิญประชุมบรรดาสหกรณ์ที่ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทการบินไทย มีตัวแทนของสหกรณ์มากกว่า 60 แห่ง (น่าจะมากกว่า 100 คน) เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้เสนอข้อมูลที่เกิดขึ้นและความเห็นต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าว
            ในวันนั้นเอง ผมได้ยินจากผู้เข้าร่วมประชุมบางท่านว่า สถาบันการเงินบางแห่งปฏิเสธการขยาย (ต่อ) ระยะเวลาให้กู้แก่สหกรณ์โดยเฉพาะที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งโดยส่วนตัวแม้จะไม่ค่อยชอบใจแต่ก็ถือว่าเป็นการทำธุรกิจตามกติกา อย่างไรก็ตาม ในวันต่อๆ มา ก็ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่าแม้แต่สหกรณ์ที่มีข้อตกลงในเรื่องวงเงินกู้ยืมไว้อย่างชัดเจน โดยได้วางหลักทรัพย์ค้ำประกันไว้ล่วงหน้าแล้วก็ถูกสถาบันการเงินเหล่านั้นปฏิเสธการให้กู้โดยไม่มีคำอธิบายที่ดีพอ
            โดยปกติถ้าไม่มีความจำเป็นสหกรณ์ก็คงไม่แบกหน้าออกไปขอกู้ใครอยู่แล้ว และ การทำวงเงินกู้ยืมไว้ล่วงหน้าก็เพื่อบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น (โดยวางหลักประกันไว้ด้วย) การปฏิเสธการให้กู้ในกรณีหลังนี้โดยส่วนตัวผมว่า “ไม่แฟร์” เพราะการกระทำดังกล่าวอาจทำให้สหกรณ์คู่สัญญาที่ไม่เข้มแข็งพอเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้ (อดคิดไม่ได้ว่าเป็นการจงใจ) ผมขอถามท่านนักกฎหมายทั้งหลายว่า “สหกรณ์ที่ถูกปฏิเสธ (ถูกกระทำ) จะดำเนินการทางกฎหมายกับสถาบันการเงินที่ไม่ทำตามสัญญาได้หรือไม่”
            เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว สถาบันการเงินบางแห่งเรียกเงินกู้ที่ถึงกำหนดคืน จากสหกรณ์จำนวนมาก (กระจายอยู่ทั่วประเทศ) หากสหกรณ์ไหนไม่สามารถชำระเงินคืนได้ก็จะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2-3 ต่อปี เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้กับสหกรณ์ทั้งระบบ ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรขั้นสูงของขบวนการเองก็เคยถูกปฏิเสธ (ระงับ) การให้กู้อย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน ทั้งๆ ที่มีการทำวงเงินกู้ยืมโดยเอาหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกันไว้ล่วงหน้าแล้ว ถ้าวันนั้นองค์กรดังกล่าวไม่มีฐานทางการเงินที่เข้มแข็งและไม่มีเครือข่ายภายในที่ดีพอ ขบวนการสหกรณ์อาจประสบปัญหาอย่างรุนแรง
            ... เราจะเรียกสถาบันการเงินที่มีพฤติกรรมแบบนี้ว่า “หน้าเนื้อใจเสือ” ได้หรือเปล่า หรือจะให้เรียกเป็นอย่างอื่น...
            ต้องขอย้ำตรงนี้ว่าที่พูดถึงข้างต้นเป็นเพียงสถาบันการเงินบางส่วนเท่านั้น ยังมีอีกหลายสถาบันการเงิน ที่ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว โดยรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับสหกรณ์อย่างมั่นคง ก็ต้องขอขอบคุณ และขอจัดสถาบันการเงินกลุ่มนี้ไว้ในกลุ่มที่เรียกว่า “กัลยาณมิตร” ครับ
 
ส่งท้ายก่อนจาก
            ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นบทเรียนที่ขบวนการสหกรณ์ต้องเรียนรู้ และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่างน้อยๆ ก็ควรสื่อถึงกันว่าสถาบันการเงินไหนมีพฤติกรรมอย่างไร และ ร่วมมือกันดำเนินมาตรการบางอย่างต่อสถาบันการเงินที่มีพฤติกรรมแบบ “หน้าเนื้อใจเสือ” ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้ขบวนการสหกรณ์มีที่พึ่งพิงทางการเงินที่มั่นคง ควรอย่างยิ่งที่คนในขบวนการจะต้องหารือกันอย่างจริงจังเพื่อให้ได้แนวทางหรือรูปแบบในการบริหารจัดการการเงินของขบวนการสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ... สวัสดีครับ


 
     ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ รองประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด