สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

สสท. พร้อมผู้แทนสหกรณ์ ยื่นหนังสือ ภาครัฐ ขอชะลอ/ยกเลิก กฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน ฯ

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 09 ม.ค. 2568 เวลา 14:22 น.
 461
UploadImage

สสท. พร้อมผู้แทนสหกรณ์ ยื่นหนังสือ ภาครัฐ
ขอชะลอ/ยกเลิก กฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ฯ

นายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมุครศรีกุล ผู้อำนวยการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) ได้รับมอบหมายจากนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ นำคณะผู้แทนจากสหกรณ์ออมทรัพย์/เครดิตยูเนี่ยน ประกอบด้วยตัวแทนจากชุมชุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แห่งประเทศไทย ประธานชุมชุมสหกรณ์ออมทรัพย์กลุ่มวิชาชีพทั่วประเทศ เข้าพบหารือและยื่นหนังสือ เรื่อง ปัญหาความเดือดร้อนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่เกิดจากกฎกระทรวงเกี่ยวกับการฝากเงินและการลงทุน ต่อ นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์สภาผู้แทนราษฎร และ นายธวัช สุระบาล ประธานกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์วุฒิสภา ณ อาคาร รัฐสภา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 และมีสาระสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ เช่น (ข้อ 3) กำหนดให้สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ฝากเงินหรือลงทุนในนิติบุคคลแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละสิบของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้น เว้นแต่เป็นแต่เป็นการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิต หรือเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาลให้สามารถฝากเงินหรือลงทุนเกินร้อยละสิบของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้นได้ นอกจากนี้ (ข้อ 4) ยังกำหนดให้สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน สามารถฝากเงินหรือการลงทุนดังต่อไปนี้เมื่อนำมารวมกันแล้วต้องไม่เกินทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้นรวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบแผนและวงเงินการลงทุนจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้น (1) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน (2) ซื้อหุ้นของธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ (3) ซื้อหุ้นของสถาบันที่ประกอบธุรกิจอันทำให้เกิดความสะดวกหรือส่งเสริมความเจริญแก่กิจการของสหกรณ์ โดยได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (4) ฝากหรือลงทุนอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนดจากประเด็นปัญหาดังกล่าว สันนิบาตสหกรณ์ฯ จึงได้จัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ซึ่ง มีข้อสรุปร่วมกันว่า กฎกระทรวงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก โดยเฉพาะการออมทรัพย์ในรูปของเงินฝากและก่อให้เกิดการกระจุกตัวยิ่งกว่าเนื่องจากเงินในระบบสหกรณ์จะถูกบังคับโดยปริยายให้ลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาลซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยและมีความเสี่ยงเช่นกัน ทั้งนี้ เพราะหลักทรัพย์หนึ่งๆ ของรัฐบาล สหกรณ์สามารถลงทุนได้เกินกว่าร้อยละสิบของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และสามารถลงทุนได้เกินกว่าทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ รวมถึงผลเดือดร้อนอื่น ๆ เช่น สหกรณ์ต่าง ๆจะมีรายได้ลดลง สวัสดิการต่าง ๆ จะลดลงจนสหกรณ์ทั้งระบบไม่สามารถเดินต่อไปได้ เวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว จึงมีมติร่วมกันขอให้สันนิบาตสหกรณ์ฯในฐานะหัวขบวนของสหกรณ์ทั่วประเทศดำเนินการ ดังนี้

1) สรุปความคิดเห็นและปัญหาความเดือดร้อนของสหกรณ์ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรมส่งเสริสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกระทรวงเกษตร 2) ประสานไปยังหน่วยงานกลางที่รับฟังและสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น นายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกผู้แทนราษฎร ผ่านทางกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง และ 3) หากปัญหาความเดือดร้อนของสหกรณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข ขอให้สันนิบาตสหกรณ์แห่ง
ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เพื่อฟ้องเพิกถอนกฎกระทรวง

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage