สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทความ เรื่อง สหกรณ์สีขาว : ก้าวสำคัญที่ (อาจ) นำขบวนการสหกรณ์พ้นวิกฤต

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 06 ก.ย. 2565 เวลา 09:16 น.
 838
UploadImage

สหกรณ์สีขาว : ก้าวสำคัญที่ (อาจ) นำขบวนการสหกรณ์พ้นวิกฤต
 
                   ตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมาขบวนการสหกรณ์ไทยประสบกับสภาวะวิกฤต โดยเริ่มจากกรณีการลงทุนในแชร์ลอตเตอรี่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ ในปี 2553 เกิดวิกฤติการณ์กับสหกรณ์ออมทรัพย์ในจังหวัดต่างๆ ได้แก่  จังหวัดเลย ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด สกลนคร กาฬสินธุ์ ยโสธร ปทุมธานี ราชบุรี สงขลา และเชียงราย  โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว ได้ทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล กับบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นลักษณะแชร์ลูกโซ่ ส่งผลให้เกิดความเสียหายตามสัญญา รวมประมาณ 25,561 ล้านบาท ต่อมาได้เกิดปัญหาการจำหน่ายยางพาราที่ยังไม่ได้รับชำระเงิน โดยสหกรณ์จำหน่ายยางพาราผ่านนายหน้า ซึ่งนายหน้าใช้กลยุทธ์เรื่องราคาในการสร้างแรงจูงใจ สุดท้ายสหกรณ์ถูกนายหน้าค้างชำระค่ายางพารา และที่สร้างความเสียหายกับขบวนการสหกรณ์  และภาพลักษณ์ของสหกรณ์ อีกทั้งการลงทุนของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด  ซึ่งไปทำนิติกรรมกับบุคลภายนอกที่มีความเสี่ยงสูง  มูลค่าความเสียหายมากกว่าหมื่นล้านบาท  แต่เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับปริมาณธุรกิจในภาพรวมของขบวนการสหกรณ์แล้วมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละหนึ่ง  แต่กลับส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของขบวนการสหกรณ์ทั้งประเทศ

               กรมส่งเสริมสหกรณ์  ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการกำกับ แนะนำสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั้งประเทศ ได้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้สหกรณ์เนินงานอย่างเป็นระบบ  มีการควบคุมภายในที่ดี  ดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ บริหารจัดการด้วยการนำหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติถือใช้อย่างเคร่งครัด และดำเนินงานโดยยึดหลักความเป็นสหกรณ์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการสหกรณ์สีขาว โดยกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีทุนดำเนินงานเกิน 1,000 ล้านบาท สมัครเข้าร่วมโครงการ เกณฑ์การประเมินโครงการสหกรณ์สีขาว  ประกอบด้วย หลักธรรมาภิบาล 9 หลัก คือ 1) หลักประสิทธิผล 2) หลักประสิทธิภาพ 3) หลักการตอบสนอง  4) หลักภาระรับผิดชอบ  5) หลักความโปร่งใส  6) หลักการมีส่วนร่วม 7) หลักการมอบอำนาจ 8) หลักนิติธรรม  9) หลักความเสมอภาค

               สหกรณ์ที่จะเป็นสหกรณ์สีขาว ต้องผ่านการประเมินในแต่ละหลักธรรมาภิบาล ร้อยละ 80 และทุกหลักธรรมาภิบาลรวมกันแล้วได้ร้อยละ 85 ขึ้นไป ในระยะแรกปี พ.ศ. 2560 ทำการประเมินเพื่อบ่งบอกถึงความมีธรรมาภิบาล และวัตถุประสงค์ความเป็นสหกรณ์ (เป็นคนดี) โดยทำการประเมิน จำนวน 4 หลัก ประกอบด้วย หลักที่ 4 หลักภาระรับผิดชอบ หลักที่ 5 หลักความโปร่งใส  หลักที่ 6  หลักการมีส่วนร่วม หลักที่ 8 หลักนิติธรรม  และในปี พ.ศ. 2563 ทำการประเมินครบทั้ง 9 หลัก เพื่อบ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารจัดการ (เป็นคนดี และ คนเก่ง)

               การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำหนดผลสัมฤทธิ์ไว้ให้สหกรณ์ ที่เข้าร่วมโครงการได้ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับขบวนการสหกรณ์ ซึ่งในข้อเท็จจริงยังมีสหกรณ์อีกมากมายหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสมาชิกสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่รัฐบาลสามารถใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ ปัจจัยที่สำคัญที่จะนำพาโครงการนี้ประสบความสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือที่ดีจากคณะกรรมการดำเนินการ ฝ่ายจัดการ สมาชิก และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตนเองแล้ว ขบวนการสหกรณ์คงได้มีโอกาสสร้างสรรค์ จรรโลงสิ่งที่ดีงามให้กับประเทศได้อย่างมั่นคง สมาชิกมีความเป็นอยู่อย่างมั่งคั่ง ยั่งยืนตลอดไป
 
บทความโดย นางสาวธัญรัตน์ ส่งเสริม
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ