สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

​บทความ : “สหกรณ์เข้มแข็ง กลุ่มเกษตรกรก้าวหน้า ด้วยการกำกับ ดูแล และคุ้มครอง”

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 02 ก.ย. 2565 เวลา 13:32 น.
 615
UploadImage

“สหกรณ์เข้มแข็ง กลุ่มเกษตรกรก้าวหน้า ด้วยการกำกับ ดูแล และคุ้มครอง”

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์  ซึ่งจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และมีกลุ่มเกษตรกรซึ่งได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2547 การจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิกโดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีคณะกรรมการดำเนินการทำหน้าที่บริหารการดำเนินธุรกิจ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกจะต้องดำเนินการ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังผลประโยชน์ของสมาชิกเป็นสำคัญ ในการคงอยู่ของสหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรที่มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก บุคลากรภาครัฐ มีหน้าที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่และภารกิจของบุคลากรภาครัฐ ที่ต้องดำเนินงานขับเคลื่อน ผลักดัน สร้างความรู้แก่สหกรณ์อย่างรอบด้าน ทั้งด้านการผลิต การบริหารธุรกิจ การตลาดและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับการดำเนินงานของสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง ช่วยทำให้เป็นองค์กรสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้สมาชิกได้อย่างแท้จริง  และดำเนินงานได้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบสหกรณ์และกลุ่มเกษตร

การสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ระบบสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้ และนำไปสู่การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ โดยสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจะต้องมีการพัฒนาการบริหารจัดการภายในด้วยระบบธรรมภิบาล และการกำกับดูแลตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐอย่างเข้มแข็ง ซึ่งแนวทางการสร้างความเข้มแข็งดำเนินการ โดย “การกำกับ ดูแล และคุ้มครอง” ด้วยระบบการตรวจการสหกรณ์ กำหนดตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542  ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของผู้ตรวจการสหกรณ์ ดังนี้
  1. มาตรา 16 (3) กำหนดว่า “ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งผู้ตรวจการสหกรณ์”
  2. มาตรา 19 บัญญัติอำนาจหน้าที่ผู้ตรวจการสหกรณ์ “ตรวจสอบ กิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด เมื่อตรวจสอบแล้วให้เสนอรายงานการตรวจสอบ ต่อนายทะเบียนสหกรณ์”
  3. มาตรา 17 ระบุหลังการตรวจสอบแล้วผู้ตรวจการสหกรณ์มีอำนาจดังนี้ ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ สมาชิกสหกรณ์ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมของสหกรณ์ได้
  4.  มาตรา 18 ผู้ตรวจการสหกรณ์มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบสำนักงานของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงานของสหกรณ์ได้ และให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือหรือให้คำชี้แจงแก่ผู้ปฏิบัติตามสมควร โดยผู้ตรวจการสหกรณ์จะต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้เกี่ยวข้องในสหกรณ์ด้วย ปัจจุบันใช้บัตรข้าราชการแทน
  5. มาตรา 21 เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทำให้สหกรณ์เสียหาย นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทนสหกรณ์ได้

ดังนั้นเพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสามารถดำรงอยู่ได้และดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการคุ้มครองด้วยการตรวจการสหกรณ์ในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานภาครัฐซึ่งทำหน้าที่ในการส่งเสริมและตรวจสอบจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งอย่างมั่นคง เป็นกลไกและเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ทำให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความอยู่ดี กินดี มีความั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนสืบไป 
 
โดย
นางสาวกรณิกา บุญมีบุตร
นักวิชาการสหกรณ์ปฏิบัติการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ