สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 21 ก.ค. 2565 เวลา 14:17 น.
 1865
UploadImage

การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์
................................................
 
          พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 บัญญัติว่า ข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (7) คุณสมบัติของสมาชิก วิธีรับสมาชิก การขาดจากสมาชิกภาพ ตลอดจนสิทธิหน้าที่ของสมาชิก  ภายใต้ข้อบังคับสหกรณ์ทุกประเภทตามร่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กำหนดให้การถูกให้ออกจากสหกรณ์เป็นเหตุหนึ่งของการขาดจากสมาชิกภาพ และกำหนดให้สมาชิกสหกรณ์มีประพฤติการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต แสดงตนเป็นปฏิปักษ์หรือทำให้เสื่อมเสียต่อสหกรณ์ไม่ว่าโดยประการใด ๆ เป็นเหตุหนึ่งที่อาจต้องถูกให้ออกจากสหกรณ์ โดยกำหนดให้อำนาจคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ในฐานะผู้ดำเนินกิจการสหกรณ์ เป็นผู้พิจารณาและลงมติให้สมาชิกออกจากสหกรณ์ แต่หากสมาชิกที่ถูกให้ออกจากสหกรณ์ไม่เห็นด้วยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ โดยให้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ตรวจสอบกิจการหรือคณะผู้ตรวจสอบกิจการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้ออกจากสหกรณ์
 
 สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการพิจารณาพฤติการณ์การแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์ คือ ความเป็นกลางของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เนื่องจากการมีผลประโยชน์หรือความมีส่วนได้ส่วนเสียหรือความเป็นศัตรูต่อกันย่อมบิดเบือนข้อเท็จจริงได้ง่าย ทำให้เกิดผลเสียต่อข้อพิพาทหรือความไม่เป็นธรรมต่ออีกฝ่าย ประกอบกับในกฎหมายหรือข้อบังคับสหกรณ์มิได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ปฏิปักษ์” ไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องพิจารณาจากถ้อยคำที่กำหนดไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งหมายถึง ฝ่ายตรงกันข้าม ข้าศึก ศัตรู ซึ่งมีลักษณะพฤติกรรมที่แสดงความเป็นศัตรูมุ่งร้ายต่อกัน ความหมายของคำดังกล่าวเป็นไปในลักษณะของนามธรรม การวินิจฉัยหรือพิสูจน์ได้นั้น ต้องถือหลักของการกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเป็นเครื่องชี้ถึงสภาพจิตใจของผู้กระทำ หรือการแสดงออกย่อมบอกเจตนาของผู้กระทำ ดังนั้น การพิจารณาว่า สมาชิกคนใดมีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์หรือไม่ จึงต้องใช้การแสดงออกต่อสหกรณ์เป็นเครื่องชี้วัดว่า มีลักษณะพฤติกรรมที่แสดงความเป็นศัตรูมุ่งร้ายต่อกันหรือไม่ หากการกระทำหรือการแสดงออกในทางปฏิปักษ์ที่ปรากฏเป็นไปตามพฤติกรรมดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์มีขอบเขตหรือความหมายเพียงใดแก่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จึงขอนำคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของสมาชิกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์ เพื่อเป็นอุทาหรณ์  ดังนี้
  1. กรณีสมาชิกสหกรณ์ไปเป็นพยานในคดีมีบุคคลอื่นฟ้องสหกรณ์และคณะกรรมการดำเนินการต่อศาล เป็นเหตุให้สหกรณ์แพ้คดี ไม่ถือเป็นการแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์ ดังคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3295/2537 “โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือยอมรับมติของคณะกรรมการดำเนินการในการเลิกจ้างนางสาวเกษมศานต์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ที่ 1กับคณะกรรมการดำเนินการของจำเลย นางสาวเกษมศานต์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ประกอบกับการฟ้องคดีของนางสาวเกษมศานต์เป็นสิทธิส่วนตัว โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจที่จะบังคับไม่ให้นางสาวเกษมศานต์ฟ้องคดีได้ ส่วนจำเลยมีทนายความเป็นที่ปรึกษาอยู่ด้วยน่าจะรู้ถึงความข้อนี้ดีและควรหาทางแก้ไขอย่างอื่นมากกว่าการกล่าวโทษว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ซึ่งโจทก์ที่ 1 อาจดำเนินการได้สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้ พฤติการณ์ของโจทก์ที่ 1 ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 แสดงตนเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ซื่อตรงต่อจำเลยหรือทำให้จำเลยเสียหายอันเป็นเหตุให้ที่ประชุมลงมติถอดถอนสมาชิกภาพของโจทก์ที่ 1 มติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบ”
 
  1. กรณีสมาชิกนัดหมายให้มีการประชุมกันในหมู่สมาชิกเพื่อเข้าชื่อกันเรียกร้องให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ มิใช่เป็นการแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์หรือกระทำการอันเป็นเหตุให้เห็นว่าไม่ซื่อตรงหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือประโยชน์ของสหกรณ์ ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4200/2530 “โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์นัดหมายให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการใหม่แทนคณะเดิม ซึ่งโจทก์มีอำนาจกระทำได้ตามข้อบังคับ มิใช่เป็นการแสดงตน เป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์หรือกระทำการอันเป็นเหตุให้เห็นว่าไม่ซื่อ ตรงหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อ เสียงหรือประโยชน์ของสหกรณ์ การที่จำเลยกับพวกยกเหตุดังกล่าวเป็นข้ออ้างให้โจทก์ออกจากสมาชิก จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์”
 
จากอุทาหรณ์ที่กล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า การที่สมาชิกสหกรณ์ใช้สิทธิตามข้อบังคับของสหกรณ์ ในการตรวจสอบ หรือกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ โดยสุจริต ไม่นับว่าเป็นการแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์  
 
 

UploadImage
UploadImage
UploadImage
นายธนศักดิ์  โพธีร์
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม