สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทความเรื่อง พลังกลุ่มนั้นสำคัญไฉน

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 01 ก.ค. 2565 เวลา 14:46 น.
 821
UploadImage

บทความ
พลังกลุ่มนั้นสำคัญไฉน

หลายๆคนคงเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆว่ามีกลุ่มคนต่างๆ เกิดขึ้นหลายๆชื่อเรียกด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น   กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มที่เรียกชื่อต่างๆกันเหล่านี้ ล้วนมีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป แต่จะมีแนวคิดหรือหลักการเดียวกันคือจุดประสงค์หลักๆที่มุ่งเน้นจะช่วยเหลือสมาชิกให้บรรเทาความเดือดร้อนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม  และส่งเสริมให้สมาชิกระดับรากหญ้าให้สามารถพึ่งตนเองได้  จะเห็นได้ว่าพลังกลุ่มสามารถสร้างองค์กรชุมชนที่ยั่งยืนได้ เมื่อเราประสบความเดือดร้อน มีความต้องการเหมือนๆกัน ทำไมไม่ช่วยกันแก้ปัญหาในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเราจะอยู่แบบโดยเดี่ยวไม่ได้ ควรระดมความคิดเห็นหาหนทางปลดเปลื้องความเดือดร้อนให้กันและกัน โดยการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งได้แก่ คิดด้วยกัน ทำด้วยกัน รับผิดชอบร่วมกัน และรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ดังนั้น เมื่อเราได้พิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่าประโยชน์ของการรวมกลุ่ม ไดแก่ การช่วยกันคิดหลายคนดีกว่าการคิดคนเดียว ทำให้เกิดพลังในการดำเนินงานได้มากกว่าการทำคนเดียว การร่วมแรงกันทำ แบ่งงานกันทำ เป็นการแบ่งเบาภาระ สามารถระดมทุนได้มากขึ้น ส่งผลให้สังคมมีความเข้มแข็ง แนบแน่น มั่นคง

เมื่อพวกเราได้ทราบประโยชน์ของการรวมกลุ่มกันแล้ว แต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าคือการที่จะต้องทราบอีกว่าจะมีวิธีการในการบริหารจัดการกลุ่มอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน เพราะสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในการบริหารจัดการกลุ่มว่า  กลุ่มนั้นจะไปรอดหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่คนในกลุ่ม เช่น การไม่ค่อยให้ความร่วมมือ การไม่มาประชุม คนโน้นจะเอาอย่างนั้น คนนั้นจะเอาอย่างนี้  มีกรรมการอยู่หลายคน แต่ทำงานจริงจังเพียงไม่กี่คน พอทำอะไรไม่ถูกใจกันก็จะกูกว่าลับหลัง ถ้าให้มาทำเองก็ทำไม่ได้ เพราะไม่สามารถเสียสละเวลาได้ ปัญหาแบบนี้มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ กลุ่มที่จะดีและไปรอด ต้องเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ มีกรรมการที่ดี มีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง สมาชิกช่วยกันวางแผนทำงาน แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ  ดังนั้น เราจึงควรมาหาแนวทางแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการกลุ่มกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ กันเสียก่อน และให้ความสนใจในเรื่องการจัดการกลุ่ม และคนในกลุ่มว่าทำอย่างไร ถึงจะเกิดความร่วมมือกัน และทำให้กลุ่มเกิดความยั่งยืน ต้องยึดหลักการในการบริหารจัดการกลุ่ม  ดังนี้

1. ควรมีคณะกรรมการกลุ่ม กลุ่มไม่ว่าตั้งขึ้นเพื่ออะไร จะต้องมีคนหลายคนมารวมกันจึงต้องมีคณะกรรมการไว้ และต้องแบ่งหน้าที่กันก่อนว่าใครจะทำอะไร จะทำตำแหน่งอะไร กรรมการจะเป็นผู้วางนโยบาย ทิศทางการทำงานให้เป็นไปตามที่กลุ่มต้องการ แต่ละกลุ่มอาจมีกรรมการไม่เท่ากัน แต่ที่สำคัญจะต้องมาจากการเลือกของคนทั้งกลุ่มและควรกระจายกรรมการให้ครอบคลุมพื้นที่กลุ่มไม่กระจุกตัวอยู่ในที่เดียว  ควรแต่งตั้งกรรมการทำหน้าที่ต่างๆ ดังนี้

ประธาน  ทำหน้าที่ ดูแลการทำงานของกรรมการทั้งหมดให้ทำหน้าที่ ที่ถูกต้องโปร่งใส เป็นไปตามแผนงาน เป็นผู้ประสานงานระหว่างกรรมการและสมาชิก รวมทั้งประสานงานกับคนภายนอกแทนกลุ่ม

รองประธาน ทำหน้าที่ ช่วยงานตามที่ประธานมอบหมาย

เลขานุการ  ทำหน้าที่ จดบันทึกการประชุม ช่วยประธานติดตามงานติดต่อบุคคลภายนอก และดูแลเอกสารต่างๆ

เหรัญญิก  ทำหน้าที่ ดูแลเรื่องการเงินทั้งหมด ตั้งแต่เก็บค่าธรรมเนียมจากสมาชิก เก็บเงินจากการขายสินค้า และเก็บรักษาเงินไว้ในที่ปลอดภัย จดบันทึกเกี่ยวกับการรับจ่ายเงิน และทำบัญชีให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เป็นต้น

ทั้งนี้ อาจมีหน้าที่อื่นอีกก็ได้ แต่ถ้ากลุ่มยังเล็กอยู่ก็อาจรวมบางหน้าที่เข้าด้วยกัน

2. ควรกำหนดกิจกรรมของกลุ่มให้ชัดเจนสมาชิกในกลุ่มต้องมีส่วนร่วมในการประชุมหารือเพื่อการกำหนดกิจกรรม ธุรกิจ หรือการให้บริการของกลุ่มให้ชัดเจน เพื่อให้การดำเนินกิจกรรม ธุรกิจ หรือการให้บริการของกลุ่มบรรลุเป้าหมาย

3. การมีส่วนร่วมในกิจกรรมสมาชิกทุกคนในกลุ่มต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่การลงขันเงินประเดิมของกลุ่ม การร่วมวางแผนการทำงาน ช่วยกันทำงาน ที่ขาดไม่ได้คือต้องคอยสอดส่องดูแลการทำงานของกรรมการด้วยว่าถูกต้องตามที่เรากำหนดหรือไม่ ต้องคิดเสมอว่า เราเป็นเจ้าของกลุ่ม ฉะนั้น การดำเนินงานของกลุ่ม ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ต้องมาจากตัวเรา และการมีส่วนร่วม การร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมทุนของสมาชิกทุกคน

4. กลุ่มจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้การทำงานของกลุ่ม ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เนื่องจากการทำงานทุกอย่าง ย่อมมีการผิดพลาดได้เสมอ สมาชิกต้องไม่ปล่อยปละละเลยให้กรรมการดำเนินการเพียงลำพัง ต้องคอยสอดส่องดูแลการทำงานโดยตลอด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่กลุ่มได้ ถ้าพบว่ามีอะไรไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ต้องรีบทักท้วง ความเสียหายจะได้ไม่ลุกลามใหญ่โตจนแก้ไขไม่ได้ กลุ่มจะได้สามารถให้บริการสมาชิกได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการหวาดระแวง โดยเฉพาะเรื่องการเงินที่ต้องจดบันทึกให้เป็นประจำทุกวัน เพราะนานเข้าอาจหลงลืมได้ ไม่สามารถบอกได้ว่าจ่ายค่าอะไรไป รับค่าอะไรมา ที่สำคัญคือจะทำให้รู้ว่าปีนี้กลุ่มมีกำไรหรือขาดทุน โดยนำรายรับตั้งลบด้วยรายจ่าย ก็จะได้ผลลัพธ์ได้เมื่อปลายปี

5. การแบ่งบันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมกำไรที่เกิดจากการทำธุรกิจของสมาชิกในกลุ่มจะต้องแบ่งอย่างเป็นธรรม แต่ต้องตกลงกันตั้งแต่แรกว่าจะแบ่งเป็นอะไรบ้าง และแบ่งอย่างไร ถ้าจะให้ดีต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกไว้ใช้ทำทุนพัฒนางานของกลุ่ม เช่น ใครลงทุนมากหรือทำงานกับกลุ่มมากก็ได้มาก คนที่ลงทุนกับกลุ่มน้อยหรือทำงานกับกลุ่มน้อย ก็ได้น้อยตามสัดส่วนกันไป

6. การควบคุมโดยกลุ่ม กลุ่มเป็นของสมาชิก ความเห็นส่วนใหญ่ของสมาชิกจะสามารถใช้เป็นข้อตกลงในการทำกิจกรรมให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มได้อย่างแท้จริง ดังนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ กลุ่มจะต้องมีการประชุมร่วมกันของสมาชิกทั้งหมดอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อพูดคุยปรึกษาหารือ รับทราบปัญหา เพื่อช่วยกันหาแนวทางแก้ไขให้ดีขึ้น รวมทั้งเลือกตั้งกรรมการใหม่ ตกลงแบ่งสรรกำไรและวางแผนการทำงานในปีต่อไป

จะเห็นได้ว่าการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร/ประชาชนทั่วไปนั้นจะทำให้เกิดความสามัคคี ตลอดจนเกิดอำนาจต่อรองของกลุ่ม ที่เราเรียกกันว่า “พลังกลุ่ม” นั่นเอง  


UploadImage

UploadImage

UploadImage

UploadImage
นงค์นุช  พุ่มประดล
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี