สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

หลักธรรมกับการบริหารงานสหกรณ์

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 07 เม.ย. 2565 เวลา 15:17 น.
 1522
UploadImage

หลักธรรมกับการบริหารงานสหกรณ์
 
สหกรณ์ มีความหมายว่า องค์กรทางเศรษฐกิจและสังคมที่สมาชิกร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยการลงหุ้นร่วมกัน จัดการร่วมกันในการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือบริการตามความต้องการหรือผลประโยชน์อย่างเดียวกันของบรรดาสมาชิก สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิ์ออกเสียงได้หนึ่งเสียงในการบริหารสหกรณ์ โดยไม่ขึ้นกับจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์โคนม, (กฎ) คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์.(ราชบัณฑิตยสถาน ที่  รถ ๐๐๐๔/๘๐๐ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๐)


UploadImage

ตามนิยามของสหกรณ์ข้างต้น จะพบคำว่า “ร่วมกัน” อยู่หลายแห่ง สรุปได้ว่าการสหกรณ์ต้องมีการดำเนินกิจกรรม/ทำงานร่วมกัน ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่นอกจากจะปกครองประชาชนด้วยทศพิธราชธรรมแล้ว ยังทรงเป็นพระราชาที่เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและการแก้ปัญหาในทุกเรื่องราวอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง“การทำงาน” ซึ่งหลายๆ ครั้งที่ทรงเสด็จในงานพิธีต่างๆ ทรงมีพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทฝากถึงเหล่าข้าราชบริพารและประชาชนที่มาเข้าเฝ้าฯ ให้ได้เก็บไว้เป็นข้อคิด คติเตือนใจอยู่เสมอ เช่น

“การที่จะทำงานเพื่อความมั่นคงและ ก้าวหน้านั้น มิใช่ว่าจะก้มหน้าก้มตาทำ หน้าที่ของแต่ละคนเท่านั้นจะต้องมีความ ร่วมมือสัมพันธ์กันระหว่างหน่วยงานทุกหน่วย เพื่อให้งานรุดหน้าไปพร้อมเพรียงกัน'' (พระบรมราโชวาทในโอกาสพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 22 กรกฎาคม 2513)

“หลักการสำคัญประการหนึ่ง ที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จและ เจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือ การไม่ ทำตัวทำความคิดให้คับแคบ หากให้มีเมตตาและไมตรี ยินดี ประสานสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ร่วม งานอย่างจริงใจ'' (พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 18 กรกฎาคม 2530)

ทั้งนี้ การบริหารงานของสหกรณ์จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ควรบริหารงาน ตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 9 หลัก ประกอบด้วย
                1) หลักประสิทธิผล (Effectiveness)
                2) หลักประสิทธิภาพ (Efficiency)
                3) หลักการตอบสนอง (Responsiveness)
                4) หลักภาระรับผิดชอบ (Accountability) 
                5) หลักความโปร่งใส (Transparency)
                6) หลักการมีส่วนร่วม (Participation)
                7) หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) 
                8) หลักนิติธรรม
                9) หลักความเสมอภาค (Equity)

โดยผู้เขียนขอเพิ่มติมอีก 1 หลัก คือ 10) หลักมุ่งเน้นฉันทามติ (Consensus Oriented) ในทรรศนะของผู้เขียนจะขอนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้เพื่อให้การบริหารงานสหกรณ์เกิดผลสำเร็จตามหลักธรรมาภิบาลดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ หลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นที่มาของขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ทัศนคติ ในด้านความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ของคนไทยจะมีหลักพระพุทธศาสนามาเกี่ยงข้อง ซึ่งหลักธรรมของพระพุทธศาสนา จะมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของคนไทยมากและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ โดยยึดแนวทางการปฏิบัติที่เรียกว่า ทางสายกลาง ซึ่งในทางสายกลางของพุทธศาสนาเกี่ยวข้องทั้งกาย วาจา ใจ สมาธิหรือว่าปัญญาสามารถนำประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการธุรกิจได้

หลักในการพิจารณาเลือกคำสอนพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารจัดการนั้นต้องเลือกมาให้เหมาะกับวิถีชีวิต และองค์กรโดยหลักๆ เกี่ยวกับการปกครอง เกี่ยวกับการบริหารองค์กรต่าง ๆ จะต้องใช้หลักธรรมที่เรียกว่า สังคหวัตถุ 4 คือ เป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกัน ประสานใจทุกคนที่อยู่ในองค์กรเดียวกันให้อยู่อย่างมีความสุข สามัคคี ซึ่งประกอบไปด้วย

                1. การให้ทาน คือ การอนุเคราะห์หรือสงเคราะห์ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามถานานุรูป ในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานบุญกุศลงานอัคคีร้าย หรือหลาย ๆ อย่าง
                2. ปิยวาจา คือ การกล่าวด้วยคำที่เป็นที่รัก มีประโยชน์ ถูกต้องดีงาม และก็จริงใจต่อผู้ร่วมงาน
                3. อัตถจริยา คือ ความประพฤติที่เป็นประโยชน์กันคนอื่น เช่นว่าเราช่วยเหลือกิจการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั่วไปแนะนำแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และชักชวนให้คนอื่นสนใจธรรมะ ให้ประพฤติ
                4. สมานัตตา คือ ความเป็นผู้มีตนเสมอ วางตนเสมอต้นเสมอปลายปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเสมอภาค วางตัวให้เหมาะสมกับฐานะที่เป็นอยู่ เข้ากับคนอื่นให้ได้ ไม่เอาเปรียบคน อย่างที่กล่าวมาทั้งหมดเรียกว่า สังคหวัตถุ รวมทั้ง หลักเกี่ยวกับการบริหารองค์กร คือ อิทธิบาท 4

                อิทธิบาท 4 คือ ธรรมะของความสำเร็จเป็นทางแห่งความก้าวหน้า ซึ่งสามารถมาใช้ในธุรกิจได้ มีหลักอยู่ 4 ประการ ดังนี้
                1. ฉันทะ คือ ความพอใจ รักในสิ่งที่เราทำและสิ่งที่ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม
                2. วิริยะ คือ ต้องมีความพยายาม ขยัน หมั่นเพียร เข้มแข็งอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
                3. จิตตะ คือ เอาใจมุ่งมั่นต่อสิ่งที่ทำ มีสติ ไม่เหม่อลอยฟุ้งซ่าน ต้องมีสมาธิ และตั้งอกตั้งใจ
                4. วิมังสา คือ การรู้จักพิจารณาหาเหตุผลใช้ปัญญาในการทำงาน ประกอบไปด้วยการวางแผนงาน วัดผลงาน เมื่อมีข้อบกพร่องต้องรู้จักแก้ไขปรับปรุง

วิธีการผสมผสานระหว่างบริหารงานสหกรณ์กับคำสอนทางพระพุทธศาสนา นั้น ส่งผลเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่เห็นชัด คือองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะตัวบุคคล หากผู้นำองค์กรประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องอยู่ในศีลธรรม เจ้าหน้าที่ในองค์กรก็จะถือเป็นแบบอย่างที่ดี และถ้าหากผู้บริหาร และบุคลากรในองค์การมีหลักธรรมเป็นเครื่องชี้นำแนวทาง การทำงานก็จะสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ส่งผลให้สหกรณ์เข้มแข็งและเป็นที่พึงให้แก่มวลสมาชิก มีความกินดี อยู่ดี และมีสันติสุขในสังคมสืบไป


โดย....นางสาวณัฐพร สมทัศน์
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์