สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทความ : แนวทางการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 07 เม.ย. 2565 เวลา 14:47 น.
 2103
UploadImage

แนวทางการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร

กลุ่มเกษตรกรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของชาวนาเพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเรียกว่า กลุ่มชาวนา มีลักษณะเป็นกลุ่มอาชีพที่ยังไม่เป็นทางการ ต่อมารัฐได้ให้ความสำคัญและยอมรับบทบาทของกลุ่มชาวนามากขึ้น จึงได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 ประกาศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2515 ขึ้นเพื่อให้ราษฎรผู้มีอาชีพเกษตรกรรมรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรและได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 141 ประกาศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีฐานะเป็นนิติบุคคลและสามารถประกอบธุรกิจต่าง ๆ ได้ ภายใต้การสนับสนุน ส่งเสริมและกำกับของทางราชการ ต่อมาปี พ.ศ. 2542 ได้มีตราพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2542 เป็นต้นมา โดยให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิบัติฉบับที่ 140 ประกาศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2515 และได้บัญญัติให้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2547 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป และให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 141ประกาศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2515

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2547 กําหนดให้บุคคลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คนร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกร สมาชิกต้อง บรรลุนิติภาวะและมีกิจการหรือภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ที่กลุ่มเกษตรกรนั้นดำเนินการอยู่ การจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรนั้นให้ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 7 คน เป็นผู้ก่อการจัดตั้ง ยื่นคําขอต่อนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรประจำจังหวัดแห่งท้องที่ที่จะจัดตั้ง ตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดพร้อมเอกสารประกอบ เมื่อนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรประจำจังหวัดรับจดทะเบียน และออกใบทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรแล้วกลุ่มเกษตรกรนั้นมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ.2547 กำหนด เช่น สามารถดำเนินธุรกิจ เพื่อประโยชน์ของสมาชิก ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจการซื้อ ธุรกิจการขาย ธุรกิจแปรรูป สินค้าเกษตร และธุรกิจบริการส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ตามความเหมาะสมแก่ประเภทของกลุ่มเกษตรกรประเภทกลุ่มเกษตรกรแบ่งตามประเภทเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา การทำสวน การทำไร่ การเลี้ยงสัตว์ การประมง และเกษตรกรรมประเภทอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
 
หลักเกณฑ์การจัดมาตรฐานกลุ่มเกษตรกร
ตัวชี้วัดสำหรับการจัดมาตรฐานกลุ่มเกษตรกร โดยวิเคราะห์ผลการดําเนินงานของกลุ่มเกษตรกรออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับได้มาตรฐาน และระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ด้วยตัวชี้วัด 5 รายการ ประกอบด้วย
 (1) คณะกรรมการดำเนินการจัดให้มีการจัดทำงบดุลรอบสิบสองเดือน แล้วเสร็จและจัดให้มีผู้สอบ
บัญชีตรวจสอบได้ภายใน 150 วัน ตามกฎหมาย
 (2) ไม่มีข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับรายการข้อบกพร่องทางการเงินและบัญชีอย่างร้ายแรง
 (3) มีการทำธุรกิจหรือบริการอย่างน้อย 1 ชนิด
 (4) มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายในกําหนดเวลา 150 วัน ตามกฎหมาย
 (5) มีกําไรสุทธิประจำปีและมีการจัดสรรกําไรสุทธิประจำปีตามกฎหมาย

กลุ่มเกษตรกรใดมีผลการดําเนินงานไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ข้างต้นตั้งแต่  (1)-(5) ทุกข้อให้กลุ่มเกษตรกรนั้นเป็นระดับมาตรฐาน ส่วนกลุ่มเกษตรกรใดมีผลการดําเนินงานต่ำกว่าระดับตัวชี้วัดมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ตั้งแต่ (1)-(5) เพียงข้อเดียวกลุ่มเกษตรกรนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน
  
กลุ่มเกษตรกรที่นำมาจัดมาตรฐาน หมายถึง กลุ่มเกษตรกรทุกประเภท ยกเว้น กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ กลุ่มเกษตรกรที่จัดตั้งใหม่ไม่เกิน 1 ปีกลุ่มเกษตรกรที่หยุดดำเนินงาน และกลุ่มเกษตรกรที่เลิกอยู่ระหว่างชำระบัญชีหรือกลุ่มเกษตรกรที่ล้มละลายโดยศาลสั่ง

แนวทางการเข้าแนะนำส่งเสริม

 
 
 
ซึ่งจะเห็นได้ว่าบทบาทของคณะกรรมการ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนากลุ่มเกษตรกร ดังนั้นต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผู้นําของกลุ่มเกษตรกร โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วม และกระตุ้นให้ผู้นํามีบทบาทในการพัฒนากลุ่มของตนเองอย่างเต็มที่ ต้องมีการแก้ไขปัญหาแบบเจาะลึก ตรงประเด็น ว่าปัญหาเกิดจากอะไรและแก้ไขให้ตรงจุด เช่น ปัญหาด้านบัญชี ด้านหนี้สินโดยการออกพื้นที่พบปะพูดคุยโดยตรงกับผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาชิกกลุ่มเกษตรกรไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการประชุม เนื่องจากต้องประกอบอาชีพของตนเองรวมทั้งมีภารกิจ/กิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ทำให้นัดประชุมยาก ดังนั้น ต้องกําหนดการวัน เวลาการประชุมให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยการประชุมต้องกระชับ ได้เนื้อหาและมีกลวิธีให้สมาชิกมาร่วมประชุมให้มากที่สุด
 
โดย....นางสาวสินีนาฎ จำนงค์ นักวิชาการสหกรณ์ปฏิบัติการ
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์