สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทความ : STRONG Model ต้านทุจริตในระบบสหกรณ์

โดย นางสาวสุภ์จิตรา ปิยะจันทร์
 วันที่ 05 เม.ย. 2565 เวลา 10:56 น.
 7272
UploadImage
STRONG Model ต้านทุจริตในระบบสหกรณ์
 
              
การทุจริต เป็นปัญหาที่สำคัญมาก  ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตที่เกิดจากผลประโยชน์ทับซ้อน หรือความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of interest : COI) เพราะเป็นการละเมิดด้วยการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แทรกแซงกระบวนการตัดสินใจ หรือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

สำหรับในระบบสหกรณ์ไทย ปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ยิ่งนับวันก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  และมีเทคนิควิธีการที่ซับซ้อนแยบยลในการปกปิดเป็นทวีคูณ  ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ ผู้จัดการ คณะกรรมการดำเนินการ รวมทั้งการร่วมมือกันเป็นขบวนการทุจริตก็มี ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการทุจริตที่เห็นได้ชัดนั้น ขึ้นอยู่กับโอกาส (Opportunity) และแรงจูงใจ (Incentive) เป็นสำคัญ เราจึงต้องร่วมมือกันหาแนวทางป้องกันแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของระบบสหกรณ์ไทย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ “การป้องกัน (Defense)” โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน  และหนึ่งในเครื่องมือที่เหมาะสมในการป้องกันปัญหาทุจริตในสหกรณ์ นั้นคือ “STRONG Model จิตพอเพียงต้านทุจริต” ซึ่งประกอบด้วย

S – Sufficient = พอเพียง คือ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อให้บุคลากรของสหกรณ์ทุกฝ่ายรู้จักแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นการป้องกันการทุจริตในสหกรณ์ได้อย่างยั่งยืน

T – Transparent = โปร่งใส คือ การปฏิบัติงานบนพื้นฐานความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามข้อบังคับ ระเบียบ กฎหมายสหกรณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยหลักธรรมาภิบาลในสหกรณ์              

R – Realize = ตื่นรู้ คือ ความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักถึงรากเหง้าของปัญหาการทุจริต โดยบุคลากรของสหกรณ์ทุกฝ่ายจะต้องรับรู้ปัญหาการทุจริตร่วมกัน เพื่อช่วยกันป้องกันในเบื้องต้น

O – Onward = มุ่งไปข้างหน้า คือ การมุ่งพัฒนา ปรับเปลี่ยนตนเองให้มีความเจริญก้าวหน้า บนพื้นฐานความโปร่งใส ความพอเพียง และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมสหกรณ์สุจริต โดยการส่งเสริมคนดีให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่ให้ชัดเจน

N – Knowledge = ความรู้ คือ การพัฒนาองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์การทุจริต วิเคราะห์ความเสี่ยงและประเมินสถานการณ์การทุจริตได้ โดยการทบทวนความรู้และเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตในระบบสหกรณ์

G – Generosity = ความเอื้ออาทร คือ ความเมตตา ความมีน้ำใจบนพื้นฐานของจริยธรรม และจิตพอเพียง ไม่เอื้อต่อการรับหรือการให้ประโยชน์ต่อพวกพ้อง ด้วยหลักธรรมาภิบาลในสหกรณ์

ถึงเวลาแล้วที่ระบบสหกรณ์ไทย จะต้องนำ “STRONG Model จิตพอเพียงต้านทุจริต” มาเป็นแนวทางการป้องกันและลดปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ เพื่อให้ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance and Clean Thailand)” สอดคล้องกับนโยบายรัฐของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการพัฒนากระบวนการสหกรณ์ให้โปร่งใสมากขึ้น         


โดย...นางสาวชนิดา  วงษ์แก้ว นวส.ชก.
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี