สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

ความสำคัญของประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 01 ก.ย. 2564 เวลา 12:24 น.
 4860
UploadImage

 
ความสำคัญของประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์
 
ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม
ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
 
การที่พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๕๐ (มาตรา ๕๐ วรรคแรก “ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก”)  กำหนดให้สหกรณ์ต้องมีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คนซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก แม้โดยทั่วไปคนสหกรณ์จะเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการมีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ แต่โดยเนื้อหาที่ต้องพิจารณาเป็นประการสำคัญ คือ การดำรงตำแหน่ง “ประธานกรรมการ” ซึ่งในขณะนี้เกิดปัญหาในบางสหกรณ์ จึงมีคำถามว่า การรักษาการประธานกรรมการ จะทำได้เพียงใด และในกรณีใดบ้าง
 
ในเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจในประการแรกเสียก่อนว่า “คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์”  ประกอบด้วย “ประธานกรรมการ” หนึ่งคน และ “กรรมการอื่น” อีกไม่เกินสิบสี่คน ย่อมหมายความว่า หากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่มีประธานกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุการณ์เสียชีวิตหรือลาออกจากการเป็นประธานกรรมการ ความเป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ก็สิ้นสุดลง ซึ่งหมายถึง สหกรณ์ไม่อาจมีการประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้ เพราะขาดองค์ประกอบของคณะกรรมการดำเนินการ กรณีที่ให้รองประธานทำหน้าที่แทนนั้น ต้องเป็นกรณีที่มีประธานกรรมการ แต่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็น “ประธานในที่ประชุมแทน” เทียบเคียง การประชุมของ คพช. ตามมาตรา ๑๓ และ การประชุมของคณะกรรมการบริหาร กพส. ตามมาตรา ๓๒ แต่ คพช. หรือ คณะกรรมการบริหาร กพส. โอกาสที่จะไม่มีประธาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักเช่นเดียวกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เนื่องจากประธานของแต่ละคณะดังกล่าวเป็นไปโดยตำแหน่งทางราชการ ย่อมมีผู้รักษาราชการหรือปฏิบัติราการแทนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตลอดเวลา ส่วนกรณีประธานคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจะเลือกกรรมการคนใดเป็นประธานแทนได้ทันที (มาตรา ๑๑๒ วรรคสาม “ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยแต่งตั้งผู้อำนวยการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และให้ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย”)
 
แต่อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับกู้ยืมเงินที่ได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๕๑ (มาตรา ๕๑ ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้) ยังคงดำเนินกิจการสหกรณ์ไปได้ แต่ในส่วนที่ต้องได้รับการอนุมัติหรือเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่อาจทำได้ จนกว่าจะมีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ครบองค์ประกอบตามกฎหมายเสียก่อน หรือมิฉะนั้นก็อาจให้สัตตาบันย้อนหลังเมื่อมีณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ครบองค์ประกอบแล้ว การที่จะให้รองประธานกรรมการหรือใครรักษาการประธานกรรมการในเรื่องที่มิใช่การประชุมคณะกรรมการจึงไม่อาจกระทำได้ เช่นเดียวกับกรณีที่สหกรณ์บางแห่งกรรมการดำเนินการมีมติปลดประธาน ย่อมกระทำมิได้ คนที่จะปลดหรือถอดถอนประธานได้ ต้องเป็นมวลสมาชิกสหกรณ์ หรือนายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายสหกรณ์ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และหากให้รองประธานกรรมการหรือใครรักษาการประธานกรรมการแล้วเกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ ก็เป็นความรับผิดส่วนตัวของผู้ทำตนเป็นประธานกรรมการและกรรมการทุกคนเพราะเป็นการปฏิบัติผิดกฎหมายตามมาตรา ๕๑/๑ (มาตรา ๕๑/๑ ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์ ข้อบังคับของสหกรณ์ และมติที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก)
 
ในกรณีที่ตำแหน่งประธานกรรมการว่างลง กรรมการที่เหลือจะประชุมได้ก็แต่เฉพาะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งประธานกรรมการหรืออาจใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๓ (มาตรา ๗๓ ถ้ามีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้แทนของนิติบุคคล และมีเหตุอันควรเชื่อการปล่อยตำแหน่งว่างไว้น่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นก็ได้) ร้องขอให้ศาลแต่งตั้งประธานกรรมการแทนชั่วคราว โดยอาจร้องขอให้ผู้ที่ได้รับคะแนนรองลำดับถัดไปหรืออดีตประธานที่พ้นวาระมาเป็นประธานแทนก็ดูจะเหมาะสมดี เพราะมีค่าใช้ที่ถูกกว่าการประชุมวิสามัญ  ส่วนกรณีกรรมอื่นเสียชีวิตหรือลาออกไป หากคณะกรรมการยังมีองค์ประชุมครบ ก็ไม่จำต้องเลือกตั้งหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งกรรมการแทนชั่วคราวก็ได้
 
แต่มีคำพิพากษาฎีกาอยู่เรื่องหนึ่งที่อาจทำให้บางคนเข้าใจผิด คือ คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๑๑๖๖/๒๕๕๖ ที่วินิจฉัยอำนาจฟ้องของสหกรณ์ กรณีประธานกรรมการร่วมกับกรรมการดำเนินอีก ๑๔ คนลงนามมอบอำนาจให้กรรมการดำเนินการคนหนึ่งฟ้องคู่กรรมการดำเนินการชุดเก่า กรณีทำความเสียหายแก่สหกรณ์ แต่ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีอยู่นั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเพิกให้ถอนคำวินิจฉัยของสหกรณ์จังหวัด ทำให้ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งตัดสิทธิการสมัครของผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการยังคงมีผลอยู่ ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการนั้น ไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย เมื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการไม่มีฐานะเป็นประธานกรรมการของสหกรณ์ในขณะที่ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้กรรมการดำเนินการคนหนึ่งเป็นตัวแทนตามความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๒ แต่กรรมการดำเนินการของสหกรณ์ที่ยังเหลืออยู่อีก ๑๔ คน ในขณะลงลายมือชื่อมอบอำนาจยังมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากที่จะดำเนินการแทนสหกรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑ และถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้กรรมการดำเนินการผู้นั้นได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนสหกรณ์ได้โดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับแล้ว ซึ่งมิใช่เป็นวินิจฉัยอำนาจกระทำการของคณะกรรมการในขณะที่ไม่มีประธานคณะกรรมการ

โดยสรุปแล้ว การเป็น “ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์” มีความสำคัญมาก เมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็น “ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์” แล้ว ย่อมต้องดำรงตำแหน่งไปจนครบวาระสองปี จะลาออกระหว่างทางเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เว้นแต่มีเหตุที่ไม่อาจก้าวลวงได้ เพราะเท่ากับเป็นการทิ้งสมาชิกให้เผชิญชะตากรรมเอาเอง หรือละทิ้งหน้าที่ที่รับอาสามาดูแลสมาชิกสหกรณ์นั้น ทั้งนี้สหกรณ์เรามีหน้าที่บริหารชีวิตสมาชิกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความยั่งยืน โดยใช้เงินเป็นเครื่องมือ มิใช่บริหารเงินดังที่เข้าใจกันมาตลอด และที่สำคัญหากสหกรณ์มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งหรือดำเนินการให้มีประธานกรรมการดำเนินการแทนที่ว่างเพราะการลาออก ย่อมเป็นเรื่องประธานกรรมการดำเนินการที่ลาออกต้องรับผิดชอบ อันเป็นเรื่องธรรมาภิบาลของคนสหกรณ์