สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

การคิดดอกเบี้ยผิดนัด VS การตัดหนี้แนวดิ่ง/แนวนอนของสหกรณ์

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 01 ก.ย. 2564 เวลา 10:24 น.
 2973
UploadImage
 
การคิดดอกเบี้ยผิดนัด VS การตัดหนี้แนวดิ่ง/แนวนอนของสหกรณ์
 
สิรวิชญ์ ไพศาสตร์
ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
 
          ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกส2. 9/2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 28 ตุลาคม 2563 ใช้บังคับกับสถาบันการเงิน กลุ่มธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อยภายใต้กำกับ ธุรกิจการให้เช่าแบบลีสซิ่ง ธุรกิจการให้เช่าซื้อ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ โดยหลักการในประกาศดังกล่าว มีสาระสำคัญคือการจำกัดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้สามารถเรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยปกติสูงสุดที่เรียกเก็บจริงตามที่ระบุในสัญญาไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี กำหนดหลักการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้ที่ผ่อนชำระเป็นงวดบนฐานของเงินต้นของค่างวดที่ลูกหนี้ค้างชำระในแต่ละงวดไปจนถึงวันที่ศาลรับฟ้องเป็นอย่างน้อย ไม่ได้คิดจากเงินต้นทั้งหมดอีกต่อไป นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการตัดหนี้แบบแนวนอน กล่าวคือ ให้เจ้าหนี้นำเงินที่ได้รับชำระหนี้ไปตัดชำระหนี้ตามยอดหนี้ที่ค้างแต่ละงวด โดยให้ตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และต้นเงินของยอดหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระนานที่สุดก่อน แล้วจึงค่อยตัดชำระหนี้ยอดที่ค้างชำระนานรองลงมาตามลำดับ แทนที่วิธีการตัดหนี้แบบแนวดิ่งในอดีตซึ่งเจ้าหนี้จะนำเงินที่ได้รับชำระจากลูกหนี้ไปตัดค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยเสียก่อน เหลือจึงค่อยนำมาตัดต้นเงิน แนวทางใหม่นี้ส่งผลให้การชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละครั้งมีโอกาสที่จะได้ชำระต้นเงินมากขึ้น จึงเป็นประโยชน์กับลูกหนี้มาก ทำให้ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้สามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ ส่งผลให้ไม่เป็นการเร่งรัดให้เกิดหนี้ด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan : NPL) ช่วยให้กระบวนการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีโอกาสบรรลุผลสำเร็จมากขึ้น และเกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจกับตัวลูกหนี้มากขึ้น
 
อย่างไรก็ดี หลักการและผลดีของประกาศฯ ดังกล่าว ยังไม่ส่งอานิสงส์มาถึงสหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์ไม่ใช่สถาบันการเงินตามความหมายของกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือเป็นผู้ประกอบการตามประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ธุรกรรมด้านการเงินของสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ลำดับการชำระหนี้ และการจัดสรรหนี้ จึงต้องใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งถ้ามีระเบียบนายทะเบียนกำหนดเรื่องใดไว้เป็นการเฉพาะก็ว่าไปตามนั้น
 
แต่พลันที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 10 เมษายน 2564 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 มาตรา 224 ทั้งมาตรา และเพิ่มมาตรา 224/1 ออกมาใหม่ โดยมีหลักการสอดคล้องกับหลักการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศฯ ไว้ตามที่ได้กล่าวมาในวรรคก่อน “แต่เฉพาะบางส่วน” กล่าวคือ
 
  1. เปลี่ยนดอกเบี้ยตามมาตรา 7 จากเดิมร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 3 ต่อปี
  2. ดอกเบี้ยผิดนัดตามมาตรา 224 เปลี่ยนจากเดิมร้อยละ 7.5 เป็น ดอกเบี้ยตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อปี (ปัจจุบันดอกเบี้ยผิดนัดสหกรณ์จึงคิดได้ร้อยละ 5 ต่อปี)
  3. มีมาตรา 224/1 ที่บัญญัติเพิ่มขึ้น กำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดที่แต่เดิมสหกรณ์จะคิดจากต้นเงินทั้งหมดที่ค้างชำระ เปลี่ยนมาเป็นคิดจากเฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัด ส่งผลให้ฐานของการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดที่ต่างออกไปจากเดิมมาก และส่งผลดีต่อสมาชิกผู้กู้เงินจากสหกรณ์อย่างแน่นอน
 
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ข้างต้นจึงน่าจะเป็นผลดีต่อสมาชิกผู้กู้เงินจากสหกรณ์ในทำนองเดียวกับที่ลูกหนี้สถาบันการเงินได้รับ แต่ก็เฉพาะในประเด็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดและฐานของการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัด แต่ในส่วนของวิธีการตัดหนี้แนวนอนนั้นยังไม่มีการกำหนดให้สอดคล้องกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยฯ เนื่องจากพระราชกำหนดดังกล่าวมิได้แก้ไขมาตรา 329 ซึ่งเป็นเรื่องวิธีการตัดหนี้แนวดิ่ง หลักการตัดหนี้แนวดิ่งในระบบสหกรณ์จึงยังดำรงอยู่ ดังนั้นหากสหกรณ์และสมาชิกไม่ได้ตกลงกันในสัญญาเป็นอย่างอื่น การตัดหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยค้างชำระของสมาชิกก็ยังคงตัดแบบแนวดิ่งอยู่ กล่าวคือเมื่อสมาชิกผู้ผิดนัดนำเงินมาชำระหนี้ สหกรณ์จะตัดค่าธรรมเนียม(ถ้ามี) และดอกเบี้ยค้างชำระจนหมดก่อน แล้วจึงค่อยตัดต้นเงิน ไม่สามารถตัดในแนวทางของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ส่งผลให้หนี้เสีย (NPL) ในระบบสหกรณ์ยังคงไม่ลดลง สมาชิกยังคงมีปัญหาในการชำระหนี้ต่อไป
 
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม หากคณะกรรมการสหกรณ์และสมาชิกทำสัญญากันให้การตัดหนี้ค้างชำระแตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 (แบบแนวดิ่ง) โดยเฉพาะหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งจะมีการทำเอกสารแนบท้ายสัญญาหรือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่กันอยู่แล้ว จึงสามารถตกลงกันใหม่ได้ เนื่องจากมาตรา 329 เป็นหลักการตัดหนี้ในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเท่านั้นมิใช่บทบังคับเด็ดขาด สหกรณ์และสมาชิกจึงสามารถตกลงกันตัดหนี้แตกต่างไปจากที่กฎหมายบัญญัติได้ หากทำได้ก็จะส่งผลให้สัญญาปรับโครงสร้างหนี้มีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น การชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละครั้งมีโอกาสที่จะได้ชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้สามารถกลับมาเป็นหนี้ที่มีคุณภาพแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) และเป็นวิธีการที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อหันมาใช้กัน
 
ก็ต้องรอดูการปรับตัวของกระบวนการสหกรณ์ในเรื่องนี้ เนื่องจากในอดีตด้วยผลของการตัดหนี้แบบแนวดิ่ง แม้ว่ามีการทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้ หรือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่แล้วก็ตาม แต่ตอนเขียนสัญญาหรือบันทึกต่อท้ายสัญญาฯ ก็ยังนิยมเขียนวิธีการตัดหนี้ตามกฎหมาย (มาตรา 329 – แนวดิ่ง ) เช่น กำหนดในสัญญาให้สมาชิกผู้กู้ชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงินเท่านั้นเท่านี้ แต่ในขั้นตอนการรับชำระหนี้จะค่าธรรมเนียม(ถ้ามี) และดอกเบี้ยก่อน เงินที่เหลือจึงค่อยนำมาตัดต้นเงิน ทีนี้ถ้าเงินงวดที่กำหนดในสัญญาแต่ละงวดต่ำกว่าดอกเบี้ยที่พึงชำระแต่ละงวด (ดอกเบี้ยท่วม) จะส่งผลให้สมาชิกผู้ปรับโครงสร้างหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในงวดแรกทันที ยังไม่สามารถสลัดภาพของหนี้ NPL แก้ปัญหาไม่จบ และสหกรณ์ยังคงต้องนำลูกหนี้กลุ่มนี้มาตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นค่าใช้จ่ายหักกำไรของสหกรณ์ต่อไป ทั้งที่พยายามแก้ปัญหาโดยการปรับโครงสร้างหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการแล้ว.
 
28 เมษายน 2564