สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

ร้อยใจเทิดพระเกียรติ 12 สิงหา พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “แม่ของแผ่นดิน”

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 11 ส.ค. 2564 เวลา 12:23 น.
 7955
UploadImage

ร้อยใจเทิดพระเกียรติ 12 สิงหา พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
“แม่ของแผ่นดิน”


**********************
 
วันแม่แห่งชาติ (Mother’s Day) ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย นับว่าเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือแม่ของแผ่นดิน และยังถือว่าวันแม่แห่งชาตินี้เป็นวันหยุดราชการอีกด้วย

ประวัติวันแม่แห่งชาติ

แต่เดิมนั้น วันที่ 12 สิงหาคม มิได้เป็น “วันแม่แห่งชาติ” อย่างเช่นในปัจจุบัน แต่ได้มีการกำหนดเอาวันที่ 15 เมษายนของทุกๆ ปีเป็น วันแม่แห่งชาติ โดยเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้ประกาศรับรองเอาไว้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่เป็นส่วนงานของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง จึงได้มอบหมายให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้จัดงานวันแม่มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2493 เป็นต้นมา อีกทั้งการจัดงานก็เป็นได้ด้วยความสำเร็จ เนื่องด้วยประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างออกไปได้ จึงทำให้การจัดงานไม่เพียงแต่มีการจัดพิธีทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังจัดให้มีการประกวดแม่ของชาติ การประกวดคำขวัญวันแม่ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่แม่ และเป็นการเพิ่มความสำคัญของงานวันแม่ให้มีมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปมักเรียกกันว่า “วันแม่ของชาติ”
 
ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2519 ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงวันแม่ใหม่ โดยให้ถือว่าวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งก็คือวันที่ 12 สิงหาคม เป็น “วันแม่แห่งชาติ” โดยได้เริ่มประกาศใช้เป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2519 เป็นต้นมา จากหนังสือของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ชื่อแม่หลวงของปวงชน พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2520 มีข้อความตอนหนึ่งเทิดพระเกียรติไว้ว่า …
 
“แม่ที่ดีย่อมรู้จักส่งเสริมธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เพราะแม่ทราบดีว่าถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้วความเป็นไทยที่แท้จริงจะมิปรากฏอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา

แม่ที่ดีย่อมประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี ตามระบอบของการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข โดยรักเคารพและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด

หญิงไทยทุกคน ย่อมจะมีคุณลักษณะต่างๆ ของแม่ที่ดีดังกล่าวข้างต้นอยู่แล้ว จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการศึกษาและการฝึกอบรม แต่จะหาหญิงใดที่มีคุณลักษณะครบถ้วนทุกประการเสมอเหมือนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นั้นไม่ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเทิดทูนพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่าทรงเป็นแม่หลวงของปวงชน ผู้ทรงเป็นศรีสง่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของบ้านเมืองและของประชาชนชาวไทยทั้งมวล”
 
อย่างไรก็ตาม การที่ทางราชการได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็น วันแม่แห่งชาติ ย่อมก่อให้เกิดวันอันเป็นที่ระลึกที่สำคัญยิ่งของไทยเราวันหนึ่งและกำหนดให้ถือว่า “ดอกมะลิ” สีขาวบริสุทธิ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามของแม่ผู้ให้กำเนิดแก่ตัวเรา ดังคำประพันธ์บทดอกสร้อย ชื่อ แม่จ๋า ของ ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ที่ว่า …
 
ดอกเอ๋ยดอกมะลิ
ถึงยามผลิกลิ่นพราวสกาวต้น
สดสะอาดปราศสีราคีระคน 
เหมือนกมลสดใสหมดระคาย
 
กลิ่นมะลิหอมกระไรไม่รู้สร่าง
เปรียบได้อย่างรักแท้ไม่แปรหาย
อันรักแท้แลหัวใจได้บรรยาย
ขอเชิญทาย ณ ที่ไหนจากใครเอย

ความสำคัญของวันแม่

“วันแม่แห่งชาติ” เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ทำให้เราต้องหวนกลับมาระลึกถึงพระคุณของ “แม่” ผู้ให้กำเนิด แม่ผู้เลี้ยงดู รวมถึงแม่ของแผ่นดิน เพราะแม่เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุดในชีวิต คือ บุคคลผู้ให้ชีวิต ผู้คอยคุ้มครอง ผู้มอบความอบอุ่น แม่ เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรที่คอยปกป้องลูกๆ ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนคอยผลักดันให้ลูกเกิดความสำเร็จในทุกๆ ด้าน
 
ในประเทศไทย ทางราชการจะมีการจัดงานวันแม่อย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะแม่ของแผ่นดิน พร้อมกันนั้นก็ยังมีการจัดงานประกาศเกียรติคุณเพื่อมอบรางวัล “แม่ดีเด่น” ที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก รวมถึงแม่คนอื่นๆ ในแต่ละปีอีกด้วย

 

ดอกมะลิ

เป็นที่รู้กันว่า “ดอกมะลิ” เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติ เนื่องจากดอกมะลิถือเป็นดอกไม้มงคลของไทย ดั้งเดิมคนไทยนิยมนำดอกมะลิไปบูชาพระในวันพระ และวันสำคัญทางศาสนา เพราะมีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอมยาวนานออกดอกได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการนำไปผลิตเป็นกลิ่นต่างๆ ที่มีฤทธิ์เป็นยาหอมอย่างดีของไทยเรา
 
ดอกมะลิเปรียบถึงความรักอันบริสุทธิ์ ที่แม่มีต่อลูก และมีอย่างยาวนานตลอดไป เสมือนสีและกลิ่นของดอกมะลิที่ขาวตลอดเวลาและหอมอบอวนตลอดทั้งวันทั้งคืน ในประเพณีไทยการไหว้มารดาจึงนิยมใช้ดอกมะลิเป็นดอกไม้หลัก และในบางแห่งได้มีการนำดอกมะลิทำเป็นเข็มกลัด ติดที่ปกเสื้อหรืออกเสื้อ เพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติ
 
พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 
และโดยพระชนมพรรษาจึงนับเป็นพระกุลเชษฐ์พระองค์ปัจจุบันในพระบรมราชจักรีวงศ์
 
เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะที่พระราชสวามีเสด็จออกผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ถือเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5
 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระรามที่ 6 ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร อันเป็นบ้านของพระอัยกาฝ่ายพระราชมารดา  มีพระเชษฐาสองคนคือหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากรและหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร และมีพระขนิษฐาหนึ่งคนคือท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์
 
สำหรับพระนาม "สิริกิติ์" ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า "ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร"  เรียกโดยลำลองว่า "คุณหญิงสิริ"  ส่วนพระราชสวามีจะทรงเรียกว่า "แม่สิริ"
เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุราว 2 ปี ขณะที่พี่เลี้ยงอุ้มอยู่นั้นก็มีแขกเลี้ยงวัวเข้ามาทำนายทายทัก ว่าเด็กผู้หญิงคนนี้จะมีบุญวาสนาได้เป็นราชินีในอนาคต ดังที่ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เล่าไว้ ความว่า
...วันหนึ่งขณะที่พี่เลี้ยงอุ้ม ม.ร.ว.สิริกิติ์ เดินเล่น พอดีขณะนั้นมีแขกเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นเพื่อนของแขกยามประจำบ้านมาหากัน พอแขกที่มาเหลือบเห็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ ก็จ้องมองพร้อมทั้งกวักมือเรียกพี่เลี้ยงขอให้เห็นใกล้ ๆ หน่อย เมื่อเข้ามาใกล้มองดูสักครู่ก็พูดว่า "ต่อไปจะเป็นมหารานี" พี่เลี้ยงได้ฟังก็ชอบใจเที่ยวเล่าให้คุณยายและใครต่อใครฟัง ถึงไม่เชื่อแต่ก็ปลื้มใจ ต่อมาเมื่อ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เจริญวัยขึ้น เลยเป็นเหตุให้คุณพี่ชายทั้งสองคนเอามาล้อเลียนเป็นที่ขบขันว่าเป็นราชินีแห่งอบิสซีเนีย [เอธิโอเปียในปัจจุบัน] บางครั้งถึงกับทำให้ผู้ถูกล้อต้องนั่งร้องไห้ด้วยความอายและเจ็บใจ แต่พี่ชายทั้งสองก็ยังไม่หยุดล้อ กลับเอาเศษผ้าขาด ๆ มาทำเป็นธงโบกอยู่ไปมา พร้อมทั้งบอกว่าเป็นธงประจำตัวของราชินี...
สอดคล้องกับหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี ที่กล่าวถึงเกี่ยวกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้เพื่อน ๆ จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ที่ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยฟังว่ามีหมอดูมาที่ตำหนักของท่านพ่อ แล้วทายทักว่าจะได้เป็นราชินี โดยที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เองและเพื่อนฝูงก็มิได้ใส่ใจนัก แต่เพื่อน ๆ ก็ขนานนามว่า "ราชินีสิริกิติ์" มาแต่นั้น แม้จะเป็นเรื่องขบขันของราชสกุลกิติยากร แต่ไม่มีใครคาดถึงว่าในอีก 15 ปีต่อมาคำทำนายของแขกเลี้ยงวัวผู้นั้นจะเป็นความจริง
ในระหว่างยังทรงพระเยาว์ สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เนื่องจากเพิ่งพ้นจากช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่นาน หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งเลขานุการเอกประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ ส่วนหม่อมหลวงบัวซึ่งมีครรภ์แก่ยังคงอยู่ในสยาม แต่ได้เดินทางไปสมทบหลังจากให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ 3 เดือน โดยมอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) และท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) บิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว ดังนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงต้องอยู่ไกลจากบิดามารดาตั้งแต่อายุน้อย  บางคราวต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เช่น พ.ศ. 2476 หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปอยู่ที่จังหวัดสงขลา
ปลายปี พ.ศ. 2477 หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการแล้วกลับมาสยาม จึงทำให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 2 ปี 6 เดือน ได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ณ ตำหนักในวังเทเวศร์ บริเวณถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

การศึกษา
พ.ศ. 2479 เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุได้ 4 ปี ก็ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ทว่าในขณะนั้น แม้เหตุการณ์ด้านการเมืองภายในสยามจะสงบลง แต่สถานการณ์ระหว่างประเทศก็ไม่สงบ กล่าวคือสงครามแปซิฟิกเริ่มแผ่ขยายมาถึงสยาม จังหวัดพระนครถูกโจมตีทางอากาศหลายครั้งจนการคมนาคมไม่สะดวก บิดาจึงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะอยู่ใกล้วังบิดา ได้เรียนที่นั่นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จนถึงชั้นมัธยมศึกษา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เริ่มเรียนเปียโน  ซึ่งเรียนได้ดีและเร็วเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสซึ่งทรงสันทัดเช่นกัน
 
พ.ศ. 2489 ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ มีอายุได้ 13 ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว
 
ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษ  หลังจากนั้นไม่นาน บิดาย้ายไปประเทศเดนมาร์กและฝรั่งเศสตามลำดับ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโนและตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีสจนจบ
 
ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ขณะนั้นทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์) ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์  ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดการดนตรีเป็นพิเศษ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็สนใจศิลปะเช่นกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ขึ้น
 
อภิเษกสมรส
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยมีหม่อมหลวงบัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ และในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ทรงรับเป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
 
ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงหายจากอาการประชวรแล้ว ก็ได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นการภายในเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492
 
หลังจากทรงหมั้นแล้ว หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงศึกษาต่อ กระทั่ง พ.ศ. 2493 เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทยเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระองค์ท่านโปรดฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับด้วย
 
เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงจัดขึ้น ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรพร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนนั้น หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย
 
ต่อมา ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี  หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ จนกระทั่ง พระองค์มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมีพระชันษาได้ 3 เดือน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีจึงเสด็จนิวัติประเทศไทย
 
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
เมื่อ พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์จะผนวชเป็นพระภิกษุระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน เป็นระยะเวลา 15 วัน จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้นพระองค์ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช
 
ต่อมา ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการประกาศว่า ตามราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช และได้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ"  นับว่าทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ 2 ในประเทศไทย โดยพระองค์แรก คือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
 
พระประชวร
เช้าตรู่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเวียนพระเศียรและเซขณะทรงออกพระกำลัง ณ โรงพยาบาลศิริราชที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับอยู่ คณะแพทย์ตรวจพระองค์โดยวิธีสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กแล้วแถลงว่า ทรงประสบภาวะพระสมองขาดเลือด (ischemic stroke)
 
พระองค์จึงประทับรักษาพระวรกายอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราชและทรงงดเว้นพระราชกิจนับแต่นั้น รวมถึงการเสด็จออกมหาสมาคมในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555
 
ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเผยถึงพระอาการว่า ทรงได้รับการรักษาและบำบัดจนทรงหายดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจของแพทย์ ทรงพระดำเนินได้คล่องแคล่วและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่แพทย์ยังให้พระองค์เว้นพระราชกิจไปก่อน
 
ครั้นวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ได้แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล พร้อมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556 สำนักพระราชวังแถลงว่า ทรงปวดพระอังสากับข้อพระกรซ้าย คณะแพทย์ตรวจแล้วพบว่าพระนหารูอักเสบ จึงถวายพระโอสถและกายภาพบำบัด
 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถปรากฏพระองค์ ขณะเสด็จฯ ตามพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชออกจากโรงพยาบาลศิริราช ณ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยทรงโบกพระหัตถ์ให้แก่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ  ก่อนเสด็จกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ผู้ถวายงาน กล่าวว่าพระองค์ทรงมีพลานามัยแข็งแรงดี
 
พระราชกรณียกิจสังเขป
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้
 
โครงการที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้ง เป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 และเมื่อ พ.ศ. 2528 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น
 
นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้น ๆ เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ
 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นฐานการดำรงชีวิตของพสกนิกร คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ถวายพระราชสมัญญา "พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ" แด่พระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิคุณของรัฐบาล และปวงชนชาวไทย ในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ 
 
ในกิจทางด้านการทหารนั้น ทรงดำรงตำแหน่งพันเอกผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ทรงให้ความสนพระทัยต่อการดำเนินงานของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ตลอดมา โดยผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 จะเข้ามาถวายรายงานถึงผลการปฏิบัติงานพร้อมกับรับพระราชเสาวนีย์ตลอดจนคำแนะนำไปดำเนินการปฏิบัติอยู่เป็นประจำ
 
นอกจากปวงชนชาวไทยแล้ว บรรดาเพื่อนบ้านที่ต้องลี้ภัยอพยพมายังแผ่นดินไทย ก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยไปให้ความร่วมมือกับกาชาดสากลในการช่วยเหลือผู้อพยพ และพระราชทานครูเข้าไปสอนวิชาชีพให้แก่ผู้อพยพ กิจการดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนองค์กรระหว่างประเทศต่างพากันยกย่องและทูลเกล้าถวายรางวัลและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมาก ดังเช่น
 
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญซีเรส เทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้นและทรงเป็นผู้ "ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง" (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2522)
 
มหาวิทยาลัยทัฟส์ จากรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรมในฐานะที่ทรงยกระดับฐานะการครองชีพของประชาชน และช่วยบรรเทาทุกข์ของเด็ก (พ.ศ. 2523)
 
สหพันธ์พิทักษ์เด็ก แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก (9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524)
 
สถาบันเอเชียโซไซตี้ แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม (14 มีนาคม พ.ศ. 2528)
 
มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าของโลก สดุดีเทิดพระเกียรติ ในฐานะบุคคลดีเด่นด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า (19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529)
 
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ทูลเกล้าฯถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ ซึ่งสถาบันแห่งนี้เคยมอบให้ แต่เฉพาะ ผู้ที่เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลกเท่านั้น (1 พฤษภาคม พ.ศ. 2531)
 
ศูนย์ศึกษาการอพยพ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐนิวยอร์ก กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงรับรางวัลความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยประจำปี ณ วอชิงตัน ดี.ซี. (29 มีนาคม พ.ศ. 2533)
 
กลุ่มผู้สนับสนุนพิพิธภัณฑ์เด็กในสหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534)
 
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ ในฐานะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอนุรักษ์และพัฒนางานศิลปหัตถกรรม ณ ศาลาธรรม จังหวัดเชียงใหม่ (30 มกราคม พ.ศ. 2535)
 
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณพิเศษในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 5 รอบ ในฐานะทรงอุทิศพระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นผลให้แม่และเด็กนับล้านได้รับบริการขั้นพื้นฐาน (2 สิงหาคม พ.ศ. 2535)
 
กองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแห่งความเป็นเลิศในฐานะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพัฒนาสตรีไทย (2 สิงหาคม พ.ศ. 2535)
 
มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม (25 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)
 
ด้านการเกษตรและชลประทาน
ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
 
การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเกษตรกรจะสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น
 
พระอิสริยยศ
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 – 28 เมษายน พ.ศ. 2493)
สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ (28 เมษายน พ.ศ. 2493 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493)
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499)
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559)
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน)