สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

กฎกระทรวง ข้อ ๙(๖) มีผลใช้บังคับเมื่อใด ?

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 02 เม.ย. 2564 เวลา 07:24 น.
 1861
 
กฎกระทรวง ข้อ ๙(๖) มีผลใช้บังคับเมื่อใด ?
ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม
ประธานคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

 
ทันที่กฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.๒๕๖๔ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ก็ก่อให้เกิดความตระหนกแก่บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกรรมการและผู้จัดการ โดยกฎกระทรวงข้อ ๙(๖) กรณีกรรมการและผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามคือการผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่าเก้าสิบวันกับนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในระยะเวลาสองปีก่อนวันที่ได้รับ การเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการหรือในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น
 
ประการแรกที่ต้อทำความเข้าใจในลำดับแรก “กฎกระทรวง” คือ นิติกรรมทางปกครองที่ฝ่ายปกครองออกฝ่ายเดียว และการบังคับใช้กฎกระทรวงหรือกฎหมายนั้น รัฐจะกระทำการได้ก็ต่อเมื่อได้ประกาศให้บุคคลรับทราบถึงเนื้อหาของกฎกระทรวงหรือกฎหมายเพื่อที่ผู้อยู่ในบังคับจะได้ควบคุมการกระทำของตนเองให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงหรือกฎหมายเช่นว่านั้น และรัฐไม่อาจใช้อำนาจเพิ่มเติมให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลเกินกว่าผลทางกฎหมายที่มีอยู่ในขณะกระทำการได้
 
ประการที่สอง หลักความไม่มีผลย้อนหลังของนิติกรรมทางปกครอง (Non-rétroactivité des actes administratifs) ซึ่งหลักนี้มีสาระสำคัญที่ห้ามมิให้ฝ่ายปกครองออกนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวให้มีผลบังคับย้อนหลัง ไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมประเภทที่มีผลเป็นการทั่วไป คือ กฎ และนิติกรรมที่มีผลเป็นการเฉพาะรายเฉพาะกรณี คือ คำสั่งทางปกครอง เหตุผลสำคัญที่รัฐไม่พึงออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้น เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจของบุคคลที่มีต่อการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐ ทั้งนี้เพราะหากการปกครองในบ้านเมืองใด รัฐไม่ยึดมั่นในภาษิตกฎหมายบทหนึ่งว่า “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย” ราษฎรย่อมไม่มีหลักประกันว่าสิ่งที่ตนได้กระทำไปในวันนี้ในอนาคตกาลวันข้างหน้า
 
เมื่อเข้าใจหลักคิดทั้งสองประการแล้ว ก็อาจอธิบายได้ว่ากรรมการและผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามคือการผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่าเก้าสิบวันในระยะเวลาสองปีก่อนวันที่ได้รับ การเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการหรือในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น หมายความว่า หากกฎกระทรวงข้อ๙ (๖) ไม่อาจใช้บังคับแก่กรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ แต่หากหลังวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขตามข้อ ๙ (๖) ดังกล่าว ก็จำต้องบังคับตามกฎกระทรวงข้อ ๑๑ คือ กรรมการรายนั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และพ้นจากตำแหน่งทันที หรือผู้จัดการรายนั้นต้องถูกเลิกจ้างทันที
 
ส่วนกรณีทีมีการเลือกตั้งกรรมการหรือจัดผู้จัดการนั้นหลังวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ต้องบังคับไปตามข้อ ๙(๖) คือ กรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ ต้องไม่มีการผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่าเก้าสิบวันกับนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในระยะเวลาสองปีก่อนวันที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการ
 
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองกรณีดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเมื่อใดก็ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า สหกรณ์แห่งนั้นเป็น “สหกรณ์ขนาดใหญ่” เมื่อใด นั่นหมายความกฎกระทรวงข้อ ๙(๖) จะใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อวันที่นายะเบียนสหกรณ์ได้ประกาศรายชื่อสหกรณ์ขนาดใหญ่เสียก่อน เมื่อปรากฎว่านายทะเบียนสหกรณ์ได้ออกประกาศรายชื่อสหกรณ์ขนาดใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ ดังนั้นกรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่ได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งก่อนวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ จึงไม่อยู่ในบังคับคุณลักษณะต้องห้ามดังกล่าว

UploadImage