สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

ผมว่า...รัฐควรใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาประเทศ (ตอนที่ 2)

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 11 มี.ค. 2564 เวลา 15:39 น.
 2447
UploadImage
 
ผมว่า...รัฐควรใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาประเทศ
ตอนที่ 2 
:สหกรณ์คืออะไรกันแน่
 
โดย... รังสรรค์ ปิติปัญญา
ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และ รองประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด
 
 
เกริ่นกันก่อน
          ผมได้เสนอไว้ในตอนที่แล้วว่าเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาประชาชนให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว คือ "สหกรณ์" หลายคนคงมีคำถามในใจว่า “สหกรณ์คืออะไรกันแน่? และ จะมีศักยภาพในการพัฒนาประชาชนจริงหรือ?” ในระยะที่ผ่านมามีแต่ข่าวไม่ค่อยดีให้ได้ยินบ่อยมาก จนบางคนแอบ “ยี้” กับข้อเสนอของผม อย่างไรก็ตามขอให้ใจเย็นๆ และลองเปิดใจรับรู้กันหน่อยว่าสหกรณ์คืออะไร มีระบบการบริหารจัดการอย่างไร มีวิธีในการดำเนินการอย่างไร และ ผลที่เกิดจากการทำงานแบบสหกรณ์เป็นอย่างไร .... แล้วค่อยบอกว่าเห็นด้วยกับผมหรือไม่?
 
สหกรณ์คืออะไร
          ก่อนอื่นต้องเรียนท่านผู้อ่านว่าบทความนี้ไม่ได้เน้นที่การอธิบายถึงหลักการสหกรณ์ 7 ข้อ ที่ประกอบด้วยการเปิดรับสมาชิกโดยทั่วไปและด้วยความสมัครใจ การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ การให้การศึกษาอบรม การร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ และ ความเอื้ออาทรต่อชุมชน แต่จะเน้นที่การเล่าเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจความเป็นสหกรณ์ โดยจะเริ่มจากนิยาม ระบบการบริหาร สินค้าและบริการ และ ประโยชน์ของสหกรณ์
 
นิยามของสหกรณ์
          มีคนให้ความหมายเกี่ยวกับสหกรณ์ไว้หลากหลาย แต่สรุปง่ายๆ ว่า เป็น “องค์กรธุรกิจรูปพิเศษ ตั้งขึ้นโดยกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาหรือความต้องการอย่างเดียวกัน ดำเนินการโดยยึดหลักการพึ่งตนเอง  การร่วมมือและช่วยเหลือกัน ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และความสมัครใจ โดยสหกรณ์จะทำหน้าที่จัดหาสินค้าและหรือบริการที่ดีกว่า (คุณภาพดีกว่า ถูกกว่า หรือได้รับประโยชน์มากกว่า) มาให้บริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มบุคคลดังกล่าว (สมาชิก) ให้ดีขึ้น”
         
ระบบการบริหารสหกรณ์
          เนื่องจากสมาชิก (เจ้าของ) ของแต่ละสหกรณ์มีจำนวนมาก ถ้าทุกคนเข้ามาบริหารงานเองโดยตรงคงเกิดความสับสนวุ่นวายและไม่มีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีการเลือกตั้งตัวแทนจำนวนไม่เกิน 15 คน เรียกว่าคณะกรรมการเข้ามาบริหารงานแทน อย่างไรก็ตามเนื่องจากกรรมการเองก็มีภาระงานหรืออาชีพของตนเองไม่สามารถทำหน้าที่ให้บริการแก่สมาชิก (ลูกค้า) หรือทำงานประจำวันของสหกรณ์ได้ จึงต้องจ้างบุคคลอื่น (ฝ่ายจัดการ) เข้ามาทำหน้าที่แทน ทั้งนี้ฝ่ายจัดการต้องรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการทราบอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันหากสมาชิกได้รับบริการไม่ดี ก็จะสื่อสารถึงกรรมการผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการบริการต่อไป
         
สินค้าและบริการของสหกรณ์
          สินค้าและบริการของสหกรณ์มีอะไรบ้างขึ้นอยู่กับความต้องการของสมาชิก และ ประเภทของสหกรณ์ ปัจจุบันสหกรณ์ในเมืองไทยถูกแบ่งอย่างชัดเจนเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร นิคม ประมง ร้านค้า ออมทรัพย์ บริการ และ เครดิตยูเนี่ยน อย่างไรก็ตามก็เปิดโอกาสให้มีการตั้งสหกรณ์ประเภทใหม่ๆ เอาไว้ด้วยโดยระบุไว้เป็นประเภทที่ 8 คืออื่นๆ สำหรับใน 3 ประเภทแรก รวมถึงสหกรณ์บริการ และ เครดิตยูเนี่ยน เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจได้หลายอย่าง ทั้งธุรกิจด้านการเงิน (รับฝากและให้กู้ยืม) และ ด้านอื่นที่ไม่ใช่การเงิน (จัดหาของมาจำหน่าย รวบรวมผลผลิตจากสมาชิก และให้บริการอื่นๆ ที่สมาชิกต้องการ) ส่วนสหกรณ์ร้านค้า และ ออมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่เน้นการทำธุรกิจเฉพาะด้าน สหกรณ์ร้านค้าเน้นการจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายให้กับสมาชิก ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์เน้นหนักไปที่การทำธุรกิจการเงิน้นหนักไปที่การทสมาชิก ส่วนสหกรปบ้างขึ้นอยสมาชิก ถ้าสมาชิกได้รับบริการไม่ดี กโดยเฉพาะการส่งเสริมการออม และ การให้สินเชื่อ
         
ประโยชน์ที่แท้จริงของสหกรณ์
          คุณประโยชน์ที่แท้จริงของสหกรณ์คือ “ทำให้อำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้น” โดยธรรมชาติ ทุกคนมีอำนาจต่อรองอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ระดับที่มีอยู่นั้นแตกต่างกันตามฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และ ขนาดของกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ (ระดับความน่าเชื่อถือ) ตัวอย่างเช่น แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมจะมีระดับความน่าเชื่อถือและอำนาจต่อรองต่ำกว่าเจ้าของกิจการที่ส่วนใหญ่มีฐานะดีกว่า
 
          เมื่อคนที่มีอำนาจการต่อรองต่ำมารวมตัวและร่วมมือกันอย่างจริงจังผ่านสหกรณ์ มีผลทำให้อำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้น และการเพิ่มของอำนาจต่อรองนั้นไม่ได้เพิ่มเป็นสัดส่วนแบบเลขคณิต หรือ แบบ 1 + 1 = 2 แต่จะเพิ่มในอัตราที่เร็วกว่า เมื่อมีคนเข้ามาร่วมกับสหกรณ์มากขึ้นอำนาจต่อรองของสหกรณ์ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกทุกคนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และ สังคม (รวมถึงการเมืองด้วย) ทำให้สหกรณ์สามารถต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์ต่อสมาชิกได้มากขึ้น
         
วิธีดำเนินกิจการของสหกรณ์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อสมาชิก
          การทำงานของสหกรณ์เริ่มจากคนที่มีปัญหาและหรือมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจมาลงทุนร่วมกันคนละเล็กละน้อย ค่อยๆ สะสมทุน* ให้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีทุนมากพอหรือได้รับความเชื่อถือมากขึ้นก็จะเริ่มดำเนินธุรกิจโดยอาศัยอำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถซื้อสินค้า (รวมถึงสินเชื่อ) มาจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำลง สามารถหาตลาดจำหน่ายสินค้าได้ง่ายและมีเงื่อนไขการจำหน่ายที่ดีขึ้นได้ รวมถึงมีโอกาสต่อรองขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
 
*สหกรณ์แต่ละประเภทมีวิธีการสะสมทุนที่อาจเหมือนหรือต่างกันก็ได้ เช่นสหกรณ์การเกษตรที่เริ่มต้นโดยสมาชิกถือหุ้นแรกเข้า หลังจากนั้นกำหนดให้มีการเพิ่มหุ้นตามการใช้บริการเงินกู้ ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน กำหนดให้มีการเพิ่มหุ้นเป็นประจำทุกเดือนตามที่มีการตกลงกันไว้ ส่วนการเพิ่มหุ้นนอกเหนือจากนั้นก็สามารถทำได้ตามกติกาของแต่ละสหกรณ์ นอกจากนั้นทุกครั้งที่สหกรณ์มีกำไร ส่วนหนึ่งจะถูกจัดสรรเป็นทุนของสหกรณ์ด้วย (ทุนสำรองและทุนอื่น)
 
          อย่างไรก็ตาม ในการทำธุรกิจย่อมมีต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งหลายรายการไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนในขณะที่ทำธุรกิจ ดังนั้นสหกรณ์จึงกำหนดราคาขายไว้สูงกว่าต้นทุนสินค้าและบริการ เผื่อไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่โดยหลักการแล้วราคาที่กำหนดนี้ต้องไม่สูงกว่าราคาสินค้าและบริการอย่างเดียวกันที่ขายในท้องตลาด
 
          เมื่อสิ้นปีทางบัญชี ก็จะปิดบัญชีสรุปรายได้ รายจ่าย หากมีกำไร ก็จะถูกจัดสรรให้กับฝ่ายต่างๆ ตามมติของที่ประชุมใหญ่สมาชิก (ในฐานะเจ้าของ) ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียงเท่ากัน โดยจัดสรรเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ (เพื่อความมั่นคงก้าวหน้าของกิจการ) เป็นเงินปันผล (ตอบแทนแก่หุ้น) เป็นเงินโบนัสกรรมการและเจ้าหน้าที่ (ตอบแทนแก่ผู้ทำงาน) เป็นทุนสวัสดิการต่างๆ (เพื่อส่งเสริมสวัสดิการของสมาชิก) เป็นทุนเพื่อการศึกษาอบรมและทุนสาธารณประโยชน์ (เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์และสังคม) และ เป็นทุนอื่นๆ ที่ที่ประชุมใหญ่เห็นความจำเป็น จากนั้น หากยังมีกำไรเหลืออยู่อีก ให้คืนให้แก่สมาชิก (ในฐานะลูกค้า) อย่างยุติธรรม ตามสัดส่วนแห่งการทำธุรกิจหรือการจ่ายเกิน สุดท้ายจึงไม่มีกำไรสุทธิเหลืออยู่ที่สหกรณ์ หรือกล่าวได้ “สหกรณ์เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร (non-profit organization)” ยิ่งกว่านั้น ถ้ามองว่าเงินเฉลี่ยคืนคือส่วนลดการค้าก็มีความหมายว่าราคาสินค้า/บริการสุทธิที่สมาชิกจ่ายนั้นจะลดลงไปอีก (ราคาสุทธิ คือ ราคาที่จ่าย-เงินเฉลี่ยคืน)           ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดแนวทางการจัดสรรกำไรที่กล่าวถึงข้างต้นไว้อย่างชัดเจน
 
          เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างกรณีของสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ (เป็นสหกรณ์ของพนักงานบริษัท) เมื่อยังไม่มีการรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ คนที่มีรายได้ไม่พอใช้ส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบเนื่องจากเครดิตไม่ดี จำเป็นต้องกู้เงินจากแหล่งนอกระบบ ที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าแหล่งในระบบมาก เท่าที่รู้คือประมาณร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือ 240 ต่อปี (เคยมีข่าวว่าบางคนต้องเสียดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 60 ต่อเดือน) ในขณะที่คนที่มีเงินเหลือ เอาเงินไปฝากธนาคารจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำมาก เช่น น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ต่อปี และไม่รู้ว่าธนาคารเอาเงินออมของตนไปให้ใครกู้ต่อ (น่าจะไม่ใช่คนยากจน) สถานการณ์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีทั้งต่อคนที่ต้องการกู้เงินและคนที่ต้องการฝากเงิน
 
          สมมุติว่าคนในสถานประกอบการรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นมา โดยทุกคนออมเงินกับสหกรณ์อย่างสม่ำเสมอทุกเดือนในรูปของหุ้น (การออมภาคบังคับและไม่สามารถถอนได้จนกว่าจะออกจากการเป็นสมาชิก) และหากสมาชิกคนใดมีเงินเหลืออยู่อีกก็สามารถออมเพิ่มได้ทั้งในรูปของหุ้นหรือในรูปของเงินฝาก (สามารถถอนคืนได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้) ด้วยระบบการออมที่สม่ำเสมอ ทำให้เงินทุนของสหกรณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เงินที่ได้จากการออมนี้สหกรณ์จะนำมาให้สมาชิกที่มีความเดือดร้อนทางการเงินกู้ยืมไปใช้ประโยชน์ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าแหล่งนอกระบบมาก เช่น ร้อยละ 1 ต่อเดือน (หลายสหกรณ์คิดดอกเบี้ยต่ำกว่านี้มาก)
 
          อย่างไรก็ตามเป็นธรรมดาที่ในระยะแรกๆ ของการดำเนินกิจการ สหกรณ์ยังไม่เข้มแข็ง เงินที่ได้จากการออมมักไม่เพียงพอกับการให้เงินกู้แก่สมาชิก จำเป็นต้องกู้เงินจากภายนอกเพิ่มเติม (เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ) ซึ่งการกู้ยืมในนามของสหกรณ์ทำให้มีโอกาสได้รับเงินกู้มากขึ้น และเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าการกู้โดยแต่ละคน และเมื่อดำเนินการครบรอบปีทางบัญชีจะมีการปิดบัญชีสรุปรายได้ รายจ่าย และกำไร (ขาดทุน) หากมีกำไรก็จะจัดสรรไปยังฝ่ายต่างๆตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว
 
          ตัวอย่างข้างต้นชี้ว่า “ความเป็นสหกรณ์” ทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่มีเงื่อนไขการให้กู้ดีกว่าเดิม สมาชิกในฐานะผู้กู้เสียดอกเบี้ยลดลง (และยังได้เฉลี่ยคืนเมื่อสหกรณ์มีกำไรด้วย) ในขณะที่สมาชิกในฐานะผู้ออม (ออมหุ้นและเงินฝาก) ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น ไปพร้อมๆ กับเงินออมของแต่ละคนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเงินออมนี้จะเป็นแหล่งทุนสำคัญสำหรับการพึ่งตนเองของสมาชิกในอนาคต   
         
ประโยชน์อื่นที่เกิดจากการดำเนินกิจการแบบสหกรณ์
          นอกจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว สหกรณ์ยังสร้างประโยชน์ด้านอื่นๆ ให้กับสมาชิกและสังคมโดยรวมอีกด้วย ที่สำคัญ ได้แก่  
         
จัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก: สหกรณ์หลายแห่งสร้างระบบสวัสดิการให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ให้ทุนการศีกษาสมาชิกและบุตร ช่วยค่ารักษาพยาบาล จ่ายเงินสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น และที่น่าสนใจคือบางสหกรณ์กำลังคิดพัฒนาระบบบำนาญสมาชิกด้วย ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานเราคงได้เห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง
         
พัฒนาคุณภาพของคน: แนวคิดที่สำคัญของสหกรณ์คือการพึ่งพาตัวเอง การร่วมมือ และการช่วยเหลือกัน ซึ่งวิธีการทำงานตามแนวคิดนี้ช่วยพัฒนาสมาชิกให้เป็นคนสู้งานสู้ชีวิต และ พยายามพึ่งตนเองก่อนที่จะไปพึ่งคนอื่น ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับคนอื่น และพร้อม (มีน้ำใจ) ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น
          ในส่วนของการบริหารจัดการซึ่งยึดหลักการมีส่วนร่วม และ ความเป็นประชาธิปไตย ทำให้สมาชิกมีความเข้าใจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล มีความอดทนในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และพร้อมยอมรับมติของที่ประชุม ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของคนในระบอบประชาธิปไตย
 
          นอกจากนั้นสหกรณ์ยังสอนและเปิดโอกาสให้สมาชิกได้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้โดยทั่วไป ผู้มาเป็นสมาชิกของสหกรณ์เป็นผู้ที่ยากจน ขาดโอกาสในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบ ซึ่งสหกรณ์เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง 
         
เอื้ออาทรต่อสังคม: สหกรณ์มีหลักการสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมส่วนรวม คือ “เอื้ออาทรต่อชุมชน” และเพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินการตามหลักการนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมสหกรณ์เกือบทั้งหมดจะตั้ง “ทุนสาธารณประโยชน์” เพื่อเตรียมไว้ทำกิจกรรมสาธารณะและประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม
 
          จากการติดตามการดำเนินงานของขบวนการสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าแม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ขบวนการสหกรณ์ก็ยังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนทำให้สมาชิก (ในฐานะประชาชนของประเทศ) จำนวนมากลืมตาอ้าปากได้ หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน (หนี้สินที่เกินกว่าความสามารถในการชำระ) และ หลุดพ้นจากการเป็นหนี้สิน (ไม่มีหนี้สิน) รวมถึงมีบ้านและทรัพย์สินอื่นๆ เป็นของตนเอง หรืออาจกล่าวได้ว่า “สามารถพึ่งตัวเองได้” รวมถึงยังช่วยปลูกฝังความคิดในเรื่องของการพึ่งตนเอง ช่วยเหลือส่วนรวม และ ความมีระเบียบวินัย ให้เกิดขึ้นแก่สมาชิก ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ
 
ส่งท้ายก่อนจาก
          ที่เล่ามา คงทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงความเป็นสหกรณ์ได้บ้างไม่มากก็น้อย และเห็นถึงศักยภาพที่จะเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ดี มีคำถามตามมาว่า “เมื่อเป็นของดีแล้วทำไมภาครัฐถึงไม่ค่อยจะเห็นคุณค่ามากนัก?” นอกจากไม่ใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็นแล้วหลายครั้งยังแสดงออกผ่านมาตรการต่างๆ เหมือนกับจะไม่สนับสนุนให้ขบวนการสหกรณ์เจริญเติบโตและเข้มแข็งมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย สำหรับประเด็นนี้จะได้พูดคุยกันในตอนต่อไป... สวัสดีครับ