สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

ผมว่า... รัฐควรใช้สหกรณ์ เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาประเทศ (ตอนที่ 1)

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 11 มี.ค. 2564 เวลา 15:30 น.
 1208
UploadImage
 
ผมว่า... รัฐควรใช้สหกรณ์ เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาประเทศ
ตอนที่ 1 
: เป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนา
 
โดย... รังสรรค์ ปิติปัญญา
ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และ รองประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด
 
เกริ่นกันก่อน
          เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองวาระที่ขบวนการสหกรณ์ไทยมีอายุครบ 105 ปี ผมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ จึงขอถือโอกาสเสนอบทความเรื่อง “ผมว่า...รัฐควรใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาประเทศ” มาให้พิจารณา ทั้งนี้ท่านผู้อ่านอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้
 
          ผมแบ่งเนื้อหาของบทความนี้ออกเป็น 3 ตอน ตอนที 1 เป็นเรื่องของเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาประเทศ ตอนที่ 2 จะกล่าวถึงสหกรณ์ว่าคืออะไรกันแน่ และทำไมผมจึงเห็นว่าเหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และ ตอนที่ 3 จะพูดถึงสถานการณ์และการใช้ประโยชน์จากสหกรณ์ในปัจจุบัน
 
          สำหรับบทความที่อยู่ในมือท่านขณะนี้เป็นตอนที่ 1 ที่มุ่งนำเสนอความคิดเกี่ยวกับเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาประเทศ 
 
เป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาของประเทศ
 
การขยายตัวของเศรษฐกิจคือเป้าหมายที่แท้จริง?
          จากการศึกษาและติดตามพัฒนาการของประเทศไทยมานานพอสมควร ลึกๆ แล้วผมคิดว่าการพัฒนาของเราน่าจะมีปัญหา เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของเป้าหมายในการพัฒนา ผมนั่งคิดอยู่นานว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาคืออะไรกันแน่ เท่าที่เห็นหรือได้ยินบ่อยที่สุดคือการขยายตัวของเศรษฐกิจ มีการตั้งเป้ากันทุกปีว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ในปีนี้ (แต่ละปี) จะโตขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น 4% หรือ 5% หรืออื่นๆ เป้าหมายดังกล่าวจะมีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกับการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาคเกษตร อุตสาหกรรม การค้า บริการ และ อื่นๆ ซึ่งแต่ละภาคส่วนก็มีการตั้งเป้าหมายการขยายตัวของตัวเองไว้เช่นกัน
 
          เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะมีการกำหนดแผนงานโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย มีการประเมินระหว่างปี หากเห็นแนวโน้มว่าจะไม่ถึงเป้าก็จะมีมาตรการหรือโครงการออกมากระตุ้นหรือผลักดันให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย
 
          จากการติดตามข่าวการพัฒนามาเป็นระยะๆ พบว่าที่ผ่านมาการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงพอสมควร อาจจะสูงกว่าหลายๆ ประเทศที่มีเงื่อนไขคล้ายๆ กัน การขยายตัวเพิ่งจะมาต่ำลงในระยะหลังๆ นี่เอง ในฐานะของคนที่ติดตามการพัฒนาประเทศก็แอบเป็นห่วงอยู่เหมือนกันว่าถ้าแนวโน้มเป็นอย่างนี้และอย่างต่อเนื่องแล้วอนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร
 
          อย่างไรก็ตามด้วยการมองการพัฒนาประเทศแบบเอนเอียงไปทางด้านเศรษฐกิจ จนหลายคนคิดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจคือสาระหลักของการพัฒนาประเทศที่แท้จริง หรือเศรษฐกิจยิ่งขยายตัวประเทศชาติยิ่งเจริญ ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง และการพัฒนาที่ยึดเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางอย่างในปัจจุบันนี้อาจนำมาซึ่งความผิดพลาดและบิดเบี้ยวของสังคม
 
แล้วเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่?
          ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวในระดับสูง คนจำนวนหนึ่งมีรายได้และความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามเราพบว่าประชาชนระดับล่าง (รากหญ้า) จำนวนมาก (มากกว่าพวกความมั่งคั่ง หลายเท่าตัว) กำลังเผชิญหน้ากับความยากจน ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม และ ต้องเผชิญกับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส  ซึ่งหมายความว่าผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ได้กระจายไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง การกระจายรายได้ของไทยมีแนวโน้มเลวลงเรื่อยๆ และ เคยมีข้อมูลว่าเลวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คนส่วนใหญ่ของประเทศยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้... “ยิ่งพัฒนาประเทศ ประชาชนยิ่งพึ่งพาตัวเองไม่ได้” จนบางคนตั้งข้อสังเกตเชิงประชดประชันว่า “การพัฒนา หมายถึง การทำให้เลวลง การทำให้หมดไป”  
 
          สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผมกลับมาตั้งคำถามว่า “การกำหนดเป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศที่ผ่านมานั้นถูกต้องหรือไม่?” จริงๆ แล้วรากฐานของประเทศคือ ประชาชน ดังนั้นเป้าหมายของการพัฒนาที่แท้จริงควรจะอยู่ที่ประชาชน การพัฒนาต้องทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี มีความเท่าเทียมกับคนอื่น การพัฒนาใดๆ ที่ไม่ได้นำไปสู่สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นการพัฒนาที่ไม่ถูกต้อง และการพัฒนาใดที่ลด (ทำลาย) ความสามารถในการพึ่งพาตนเองของประชาชนลงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นในทัศนะของผมการพัฒนาที่ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจ เทคโนโลยี่ และ อื่นๆ ต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาประชาชน หรือเป็นเพียงทางผ่านไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง “เราต้องไม่ติดกับดักทางผ่านจนลืมเป้าหมายที่แท้จริง”
 
          หลายคนอาจเห็นด้วยกับผม แต่ก็คิดว่าการพัฒนาก็ควรจะเริ่มต้นจากจุดสำคัญๆ หรือคนกลุ่มเล็กๆ ก่อนเมื่อคนกลุ่มเล็กได้รับผลประโยชน์แล้ว ผลประโยชน์หรือความมั่งคั่งก็จะไหลบ่าสู่คนอื่นๆ คล้ายๆ กับน้ำที่จะไหลจากที่สูงไปหาที่ต่ำ ซึ่งผมต้องขออนุญาตเห็นต่าง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว “คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเห็นแก่ตัวสูง” ดังนั้นเมื่อได้รับผลประโยชน์แล้วก็จะพยายามเก็บกักผลประโยชน์เหล่านั้นไว้ให้มากที่สุดจนเก็บกักไว้ไม่ไหวจึงจะปล่อยผลประโยชน์ออกมาสู่คนอื่น (คล้ายๆ กับเขื่อนที่กักน้ำเอาไว้ จะปล่อยออกมาเมื่อเกินกำลังความสามารถที่จะเก็บกักแล้ว) เหมือนกับกรณีของการพัฒนาประเทศที่มุ่งไปที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่มีผลทำให้การกระจายรายได้ของประเทศเลวลงเรื่อยๆ ดังนั้น นอกจากมีเป้าหมายหลักที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่เราคงต้องคุยกันให้มากขึ้น คือวิธีการหรือเครื่องมือที่จะใช้ในการพัฒนาที่ช่วยชะลอผลเชิงลบ รวมถึงเร่งให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งของการพัฒนาและความสามารถในการพึ่งพาตนเองไปสู่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน
 
แล้วเครื่องมือที่เหมาะสมคืออะไรล่ะ?
          หากเป้าหมายของการพัฒนาคือ “ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง คำถามที่ตามมาก็คือแล้วจะมีหนทางหรือเครื่องมืออะไรล่ะ ที่สามารถนำพาการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งอาจมีหลายคำตอบ แต่คำตอบหนึ่งที่เห็นว่าเป็นไปได้ก็คือ “สหกรณ์” คนจำนวนหนึ่งฟังคำว่า “สหกรณ์” แล้วอาจร้อง “ยี้” อย่างไรก็ตามขอให้ใจเย็นๆ และเปิดกว้าง ลองทำความเข้าใจกับวิธีคิดแบบสหกรณ์
 
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของงานสหกรณ์ ผ่านพระบรมราโชวาทที่พระราชทานต่อผู้นำสหกรณ์ในหลายโอกาส ซึ่งในที่นี้ขออัญเชิญบางพระบรมราโชวาทมาแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ดังนี้
 
          “... การสหกรณ์นี้ถ้าเข้าใจดีแล้วก็เห็นได้ว่าเป็นวิธีทางเดียวที่จะทำให้มีความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้ และต้องเข้าใจว่าเป็นการสหกรณ์ที่เรียกว่าสหกรณ์แบบเสรี คือแต่ละคนต้องมีวินัยจริง แต่ว่าไม่อยู่ในบังคับของใครเลย อยู่ในบังคับของวินัยที่ตัวเองต้องเป็นผู้รับรอง ...” (พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2522)
 
          “... ควรจะมีการแพร่ขยาย ให้ใช้ระบบสหกรณ์ขึ้นทั่วประเทศ เนื่องจากวิธีการสหกรณ์นั้นเอง เป็นรากฐานที่ดีของระบบประชาธิปไตยอย่างสำคัญ สอนให้คนรู้จักรับผิดชอบร่วมกัน ให้มีการเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารสหกรณ์ ตลอดจนให้รู้ถึงคุณค่าของประโยชน์อันจะได้ร่วมกันเป็นส่วนรวม,,,” (พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2520) 
 
ส่งท้ายก่อนจาก
          โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาประเทศคือ “ประชาชน” ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและมีชีวิตอย่างมีความสุขของประชาชนส่วนใหญ่คือสิ่งที่ผู้บริหารต้องคำนึงถึง และเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายดังกล่าวผมเสนอให้ใช้ “สหกรณ์” เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา ซึ่งจะได้กล่าวถึงเครื่องมือนี้ในตอนต่อไป ... สวัสดีครับ