สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

การบริหารจัดการเงินทุนของสหกรณ์

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 28 ม.ค. 2564 เวลา 08:44 น.
 5554
UploadImage

การบริหารจัดการเงินทุนของสหกรณ์
 
สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้วางนโยบายในการบริหารงาน การดำเนินธุรกิจ ทั้งการบริหารด้านการเงิน ด้านบุคคล และมีฝ่ายจัดการเป็นผู้รับนโยบายไปปฏิบัตินั้น ซึ่งการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการการเงินจะมีตั้งแต่ การกำหนดเป้าหมายธุรกิจ การจัดสรรการใช้เงินทุน การจัดหาเงินทุน การวางแผนและการควบคุมทางการเงิน และควรมีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุของการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นตามเป้าหมาย โดยใช้เครื่องมือการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินเข้ามาช่วยในการตัดสินใจในการบริหารจัดการ ซึ่งในปัจจุบันสหกรณ์ส่วนใหญ่มีเงินทุนภายในไม่เพียงพอในการดำเนินงาน จึงต้องจัดหาเงินทุนจากภายนอกมาใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งหากมีการบริหารการจัดการที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่อง หรือสหกรณ์บางแห่งมีทุนดำเนินงานภายในมาก จากการเพิ่มหุ้นและเงินรับฝากจากสมาชิก ซึ่งสหกรณ์ต้องบริหารจัดการเงินทุนที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เพื่อป้องกันไม่ให้สหกรณ์ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากเงินทุนดังกล่าว
 
คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของ เงินทุนที่จะนำมาบริหารจัดการว่าจะหามาจากแหล่งเงินทุนใด ที่จะเป็นแหล่งเงินทุนที่ดีมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ในการผลิต เพื่อให้มีรายรับมากกว่ารายจ่าย แหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ มี 2 แหล่ง คือ
 
  1. ทุนในส่วนของเจ้าของ คือเงินที่เจ้าของกิจการนำมาลงทุนและผลกำไรที่เกิดขึ้นและยังสะสมอยู่ใน
กิจการนั้น เช่นทุนเรือนหุ้น ทุนสำรอง ทุนสะสมอื่น ซึ่งทุนที่มาจากเจ้าของนั้นไม่มีต้นทุนที่เห็นได้ชัด เพราะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เว้นแต่เมื่อดำเนินธุรกิจมีกำไรจะต้องแบ่งจัดสรรเจ้าของเงินทุนในรูปของเงินปันผลค่าหุ้น และเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนแห่งการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสัดส่วนของเงินทุนในส่วนของเจ้าของที่นำมาลงทุนที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ร้อยละ 60 ของเงินทุนทั้งหมด ดังนั้นในการดำเนินธุรกิจจะต้องมีผลตอบแทนพอที่จะปันผลให้แก่เจ้าของทุนในอัตราที่เหมาะสม สหกรณ์อาจมีการจัดทำโครงการระดมทุนภายในทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนเรือนหุ้น การระดมเงินฝากจากสมาชิก และเมื่อสิ้นปีมีกำไรสุทธิ สมาชิกที่ได้รับเงินปันผล/เฉลี่ยคืนจากการจัดสรรกำไร ก็เชิญชวนให้สมาชิกถือหุ้นเพิ่มหรือฝากออมไว้กับสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงกว่าธนาคาร เพื่อเป็นแรงจูงใจให้สมาชิกนำเงินมาฝาก จะได้มีทุนดำเนินงานที่มีต้นทุนต่ำ
 
2. ทุนที่ได้แหล่งเงินทุนภายนอกโดยจากการกู้ยืมเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่เจ้าหนี้ เงินกู้ เจ้าหนี้การค้า แหล่งเงินทุนกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร หรือจากหน่วยงานราชการที่มีกองทุนในการสนับสนุนเงินให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะมีต้นทุนคือดอกเบี้ย ที่กิจการจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างเห็นได้ชัด หรือหากมีการซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อราคาสินค้าก็จะแพงกว่าเงินสด ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นสัดส่วนของเงินทุนที่หามาจากแหล่งเงินทุนภายนอกควรอยู่ที่ ประมาณร้อยละ 40 ของเงินทุนทั้งหมด
 
เมื่อมีทุนในการดำเนินกิจการแล้ว คณะกรรมการดำเนินการจะต้องคำนึงถึงการใช้เงินทุน ประเภทของเงินทุนแหล่งที่มาของเงินทุน เพื่อให้สอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพสูงสุด มีสภาพคล่องในการดำเนินงานก่อให้เกิดรายได้เพื่อตอบแทนผู้ลงทุน เงินทุนที่จัดหามาได้จากแหล่งต่างๆ จะลงทุนในสินทรัพย์ 2 ประเภท คือ
  1. สินทรัพย์หมุนเวียน ได้แก่เงินสด ลูกหนี้ สินค้า ฯลฯ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดภายใน ระยะเวลา 1 ปี หรือภายในรอบระยะเวลาปกติ การบริหารสินทรัพย์หมุนเวียนให้มีสภาพคล่อง ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอเหมาะสม เพราะถ้าเงินทุนหมุนเวียนมากเกินไป ก็จะสูญเสียโอกาสต่อผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้น
 
  1. สินทรัพย์ถาวร ได้แก่ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ
เป็นการลงทุนระยะยาว ใช้เงินจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้นการลงทุนควรเลือกโครงการที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด
 
ปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้สหกรณ์ก้าวไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานของสหกรณ์ คือการมีส่วนร่วมของสมาชิกสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมลงทุน และร่วมตัดสินใจ ในเบื้องต้นการรวมกลุ่มกันจะอาศัยการระดมทุนจากสมาชิกเพื่อเป็นทุนในการดำเนินงาน จะมีความระมัดระวังในการบริหารจัดการการเงินเป็นอย่างมาก ที่จะให้กลุ่มประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และเมื่อปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้นเงินทุนไม่เพียงพอจึงค่อยกู้ยืมจากภายนอก ซึ่งจะมีทุนส่วนของเจ้าของมากกว่าทุนที่ไปกู้ยืมมา แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่าสหกรณ์ส่วนใหญ่ มีทุนดำเนินงานที่ผ่านมาจากการกู้ยืมภายนอกจะมากกว่าทุนในส่วนของเจ้าของ ทำให้การบริหารจัดการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะในด้านของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้นสหกรณ์ควรมีการบริหารจัดการเงินทุนของสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สหกรณ์มีผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม อันจะส่งผลให้สหกรณ์เข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรทั่วไป และชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และเมื่อสหกรณ์ในประเทศมีความเข้มแข็งแล้ว ย่อมเป็นฐานรากในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นางณัชกช นามจันทร์
ผอ.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการจัดการสหกรณ์
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดระนอง