สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

หลักธรรมนำการพัฒนาสหกรณ์

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 19 ม.ค. 2564 เวลา 08:04 น.
 1225
UploadImage

หลักธรรมนำการพัฒนาสหกรณ์
 
ในปัจจุบันมีสหกรณ์หลายแห่งที่ดำเนินงานแล้วไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ และนับวันยิ่งจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีสาเหตุจากหลายๆ สาเหตุ และสาเหตุหลักๆ คือ คน (บุคลากรในสหกรณ์เองเป็นหลัก) ที่มีทั้งขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการสหกรณ์ ไม่มีความรู้ในเรื่องการบริหารงาน ไม่มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะต่างๆ (กรรมการของสหกรณ์, เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ หรือสมาชิกของสหกรณ์ เป็นต้น) และปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการที่ทำให้การดำเนินงานของสหกรณ์ไม่ประสบผลสำเร็จ
 
ทั้งนี้ ได้มีการนำแนวทางต่างๆ และสร้างเครื่องมือต่างๆ มาเพื่อพยายามที่จะแก้ไขปัญหา เช่น การให้การศึกษาอบรมในหลักสูตรต่างๆ (เรื่องหลักการ วิธีการสหกรณ์ และอุดมการณ์, บทบาทหน้าที่ของกรรมการ เจ้าหน้าที่ และสมาชิก, การบริหารงานในสหกรณ์ รวมทั้งระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ) รวมทั้งการกำหนดให้มีการนำเรื่องหลักธรรมาภิบาล, หลักการบริหารความเสี่ยง และหลักการควบคุมภายใน มาใช้ในการส่งเสริมสหกรณ์ ตลอดระยะเวลาหลายปี แต่กระนั้นก็ยังมีการทุจริต การดำเนินงานที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และการบริหารงานที่ผิดพลาดเพิ่มขึ้น
 
เหล่านี้ ล้วนเกิดจากคน ที่ขาดความสำนึก รับผิดชอบ ขาดการใฝ่รู้ ตามหลักศาสนา ซึ่งถ้ามีการนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในการพัฒนาด้านจิตใจของคน ก็อาจจะเป็นแนวทางหรือเครื่องมือในการพัฒนายกระดับสหกรณ์ให้การดำเนินงานของสหกรณ์ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงขอนำหลักธรรมทางศาสนามาเพื่อใช้ในการสรรหาบุคคลและพัฒนาคน ในการดำเนินงานของสหกรณ์ คือ หลักอิทธิบาท 4
 
อิทธิบาท 4 แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น 4 ประการ คือ
 
1) ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น/ ความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ตนถือว่าดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ ข้อนี้เป็นกำลังใจอันแรกที่ทำให้เกิดคุณธรรมข้อต่อไปทุกข้อ
 
2) วิริยะ  ความพากเพียรในสิ่งนั้น/ ความพากเพียร หมายถึง การกระทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาวจนประสบความสำเร็จ คำนี้มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง
 
3) จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น/ ความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป
 
4) วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น/ ความไตร่ตรอง หรือทดลอง ความสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมายของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่
 
สรุป จากหลักธรรมดังกล่าว ถ้ามีการนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาบุคลากรในสหกรณ์ หรือการสรรหาบุคคลในการทำงาน ย่อมจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาต่างๆ ของสหกรณ์ลงได้ และย่อมจะส่งผลให้สหกรณ์ดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ต่อไป
 
นายสุริยัน ทองธรรมชาติ
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ
ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ