สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์

สหกรณ์ออมทรัพย์: “นักบุญ” หรือ “คนบาป” ของสังคมไทย?

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 11 ม.ค. 2564 เวลา 09:19 น.
 1516
UploadImage

 
สหกรณ์ออมทรัพย์: “นักบุญ”
หรือ “คนบาป” ของสังคมไทย?
 
โดย... ผศ.ดร. รังสรรค์ ปิติปัญญา
ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และ รองประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด
 
เกริ่นกันก่อน
          ในระยะหลังๆ มีการกล่าวถึงปัญหาหนี้สินของคนไทยว่าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และพบว่าเจ้าหนี้รายใหญ่ของคนบางกลุ่มคือสหกรณ์ออมทรัพย์ จึงเป็นที่มาของการกล่าวถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ในเชิงลบว่าเป็นสาเหตุหรือตัวสร้างหรือทำให้ปัญหาหนี้สินในสังคมไทยรุนแรงขึ้น (จนรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องกระโดดเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดการกับสหกรณ์*) หรือหากเปรียบเป็นคน วันนี้บางคนอาจมองว่าสหกรณ์ออมทรัพย์เป็น “คนบาป” ของสังคมไทย ... การมองแบบนี้ถูกต้องหรือไม่คงต้องมาพิจารณากัน   
(*โดยหลักแล้ว สหกรณ์เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมและกำกับดูแลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
 
พัฒนาการ (บางส่วน) ของหนี้สิน
          เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น ผมขอเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของหนี้สินก่อน ทั้งนี้สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมที่ไม่ซับซ้อนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ค่อนข้างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการติดต่อกับต่างประเทศและนำเอาแนวคิดแบบทุนนิยม* มาใช้

(*แนวคิดแบบทุนนิยม เน้นการแบ่งงานกันทำและการรวมศูนย์การผลิต จากนั้นนำเอาผลผลิตมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันโดยมีเงินตรา องค์กรธุรกิจ และ ตลาดเป็นสื่อกลาง ทุกคนในสังคมมีอิสระในการผลิตและการบริโภค ผู้ผลิตทำการผลิตเพื่อหวังกำไรสูงสุด ผู้บริโภคบริโภคเพื่อให้ได้ความพอใจสูงสุด และเชื่อมั่นว่าการแข่งขันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพและความเจริญรุ่งเรือง)

ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญปัญหาอย่างรุนแรง กลายเป็นสังคมที่อ่อนแอพึ่งพาตนเองไม่ได้ เมื่อเป้าหมายการผลิตเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นการเลี้ยงตนเองไปเป็นเพื่อขาย การผลิตต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดหรือผู้ซื้อเป็นหลัก และเพื่อให้ได้รายได้มากที่สุดการผลิตจึงเน้นการผลิตสินค้าเฉพาะอย่างและเป็นการผลิตขนาดใหญ่ มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมาย พร้อมๆ กับการนำเทคโนโลยีจากภายนอกเข้ามาใช้ ต้องการเงินทุนมากขึ้น ใครไม่มีเงินทุนของตนเองก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน โดยหวังว่าเมื่อได้ผลผลิตแล้วก็จะจำหน่ายสู่ตลาดได้เงินกลับมาใช้คืนหนี้สินดังกล่าว รวมถึงนำมาใช้จ่ายซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค และลงทุนต่อไป อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งที่การผลิตเกิดความเสียหาย หรือไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตามที่คาดหวังเนื่องจากผลผลิตล้นตลาด ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน การสูญเสียที่ดินทำกิน และเกิดความยากจนตามมา

          ในด้านการบริโภค พบว่าสินค้าที่คนในชุมชนบริโภคนั้นส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตได้เอง และสินค้าหลายชนิดไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพเลย แต่ชาวบ้านต้องการซื้อเพื่อให้ทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างแพง และชาวบ้านจำนวนมากต้องกู้เงินมาซื้อหรือซื้อในระบบเงินผ่อน จึงเกิดปัญหาหนี้สินจากการบริโภคตามมา

          เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น ประชาชนภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา โดยเริ่มจากสหกรณ์หาทุน ในปี พ.ศ. 2459 แล้วพัฒนาไปยังสหกรณ์รูปอื่นๆ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “สหกรณ์ออมทรัพย์” ที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2492 โดยมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่ “การส่งเสริมการออม” โดยเปลี่ยนแนวความคิดในการออมจาก “ใช้ก่อนออม” (เมื่อมีรายได้เข้ามาก็จะนำไปจับจ่ายใช้สอยตามที่ต้องการก่อน เหลือจากการใช้จ่ายแล้วจึงนำมาออม) มาเป็น “ออมก่อนใช้” (เมื่อมีรายได้เข้ามาก็ให้หักส่วนหนึ่งเป็นเงินออมก่อน เหลือจากการออมแล้วจึงนำไปใช้จ่าย) และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปได้จริงจึงกำหนดให้สมาชิกต้องออม (บังคับ) ในรูปของหุ้นอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน (ไม่สามารถถอนออกได้ ยกเว้นออกจากการเป็นสมาชิก) และห้ามหยุดการออมโดยไม่มีเหตุผล หลังจากนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายแล้วหากยังมีเงินเหลือ ก็อาจออมเพิ่มได้ทั้งในรูปของหุ้นและ/หรือเงินฝากที่สหกรณ์ออมทรัพย์เปิดให้บริการอยู่

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงชีวิตของสมาชิกอาจมีบางเวลาที่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย หรือต้องการซื้อทรัพย์สินที่จำเป็นแต่มีเงินไม่เพียงพอ ก็อาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถออมได้อย่างต่อเนื่อง (ผิดเงื่อนไขของสหกรณ์) และบางครั้งอาจต้องกู้เงินจากแหล่งนอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก ดังนั้น เพื่อให้การออมเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด และเป็นหลักประกันที่ดีสำหรับอนาคตของสมาชิก สหกรณ์ออมทรัพย์จึงให้บริการเงินกู้ยืมแก่สมาชิกด้วย อย่างไรก็ตาม ใคร่ขอย้ำว่าการให้เงินกู้เป็นเพียงบริการเสริมที่สำคัญ ไม่ใช่บริการหลักอันดับหนึ่งอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ

          ในระยะที่ผ่านมา มีการขยายการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปีบัญชี 2562 มีสหกรณ์ออมทรัพย์จัดตั้งและดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 1,375 แห่ง สมาชิกรวม 3.33 ล้านคน มีสินทรัพย์รวม 2.81 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีแหล่งที่มาจากทุนเรือนหุ้น 1.11 ล้านล้านบาท จากเงินรับฝากจากสมาชิก 1.05 ล้านล้านบาท นอกนั้นเป็นหนี้สินจากแหล่งอื่นๆ และเงินกองทุนต่างๆ สหกรณ์ได้นำสินทรัพย์ดังกล่าวมาบริหาร โดยเฉพาะการให้สมาชิกกู้ยืม ณ สิ้นปี 2562 มียอดเงินให้กู้และยังคงเหลืออยู่ที่สมาชิกประมาณ 2.12 ล้านล้านบาท  
 
สหกรณ์ออมทรัพย์ “นักบุญ” หรือ “คนบาป” ของสังคมไทย?
          แม้ว่าสหกรณ์จะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าผู้บริหารภาครัฐและประชาชนจำนวนมากยังมีมุมมองต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ในเชิงลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “หนี้สินภาคประชาชน” สหกรณ์ออมทรัพย์ถูกมองว่าเป็นตัวสร้าง “ปัญหาหนี้สิน” ให้แก่ภาคประชาชน ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารคนสำคัญของประเทศได้ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและได้มีการพูดถึงปัญหาหนี้สินของตำรวจในทำนองว่ามีความรุนแรงมาก โดยชี้ว่ามีมูลหนี้สูงถึงกว่า 270,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่กู้ยืมมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ คำถามที่ตามมาก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นตัวสร้างปัญหาหนี้ภาคประชาชนจริงตามที่เขามองกันหรือไม่?

          เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ในที่นี้ขอแบ่งการพิจารณาออกเป็น 3 ประเด็น คือ (1) หนี้สินเป็นสิ่งเลวร้ายหรือไม่? (2) หนี้สินที่เป็นปัญหาคืออะไร? และ (3) สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสาเหตุที่ทำให้สมาชิกเป็นหนี้และมีปัญหาหนี้สินจริงหรือไม่?
 
          ในประเด็นแรก ผมได้เคยอภิปรายไว้ในบทความเรื่อง “หนี้สิน : ของดีหรือสิ่งเลวร้าย?” โดยสรุปก็คือหนี้สินเป็นได้ทั้งของดีและสิ่งเลวร้าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวหนี้สิน (อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาชำระคืน และเงื่อนไขอื่นๆ) เจ้าหนี้ (ในระบบ หรือ นอกระบบ) และ ตัวผู้เป็นหนี้ (ความสามารถในการหารายได้ และ พฤติกรรมการใช้จ่าย) จึงไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องนี้อีก 

          ประเด็นที่สอง หนี้สินที่เป็นปัญหาคืออะไร จริงๆ แล้วหนี้สินเป็นเรื่องธรรมดาของระบบทุนนิยม หลักการบัญชีทั่วไปเขียนไว้ชัดเจนว่า “สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน” หนี้สินถือเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของสินทรัพย์ ดังนั้นในการพิจารณาเรื่องของหนี้สินต้องพิจารณาประกอบกับสินทรัพย์ด้วย คนบางคนเมื่อพิจารณาแต่เฉพาะยอดหนี้สินโดดๆ อาจดูเหมือนว่ามีหนี้สูงมาก เช่น 5 ล้านบาท แต่หากมองทางด้านสินทรัพย์ประกอบด้วยอาจพบว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์แล้วหนี้สินดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น ถ้าคนที่เรากล่าวถึงนี้ มีสินทรัพย์มากถึง 15 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3 เท่าของหนี้สิน หนี้สินของเขาก็ไม่น่าจะอยู่ในข่ายที่เป็นปัญหา ดังนั้นการพิจารณาเรื่องนี้จึงไม่ควร (ไม่สามารถ) ดูจากจำนวนหนี้สินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูประกอบกับทุนและสินทรัพย์โดยรวมของผู้เป็นหนี้ด้วย

          อย่างนั้น “ปัญหาหนี้สิน” คืออะไรกันแน่ คำว่า “ปัญหาหนี้สิน” อาจมีการให้ความหมายหลายแบบ อย่างไรก็ตาม ที่น่าจะเหมาะสมในที่นี้คือ “หนี้สินที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนดเวลา” เมื่อพิจารณาตามความหมายนี้ ผู้มีปัญหาหนี้สินจริงๆ อาจมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับคนที่เป็นหนี้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เมื่อประมาณ 3-4 ปี ที่แล้ว ขณะที่มีการพูดถึงปัญหาหนี้สินของบุคลากรทางการศึกษาว่ามีความรุนแรงมากเหลือเกิน แต่เมื่อลงไปดูข้อมูลจริงๆ พบว่าบุคลากรทางการศึกษาที่มีปัญหาหนี้สินรุนแรงจริงๆ เพียงประมาณ 1,700 คน จากฐานผู้กู้ทั้งหมดประมาณ 560,000 คน หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น

          ดังนั้นการกล่าวถึงปัญหาหนี้สินในปัจจุบันอาจอยู่ในลักษณะที่รุนแรงเกินความเป็นจริง ทั้งนี้น่าจะมีผลมาจากการตีความว่าหนี้สินทั้งหมด และ/หรือจำนวนคนที่เป็นหนี้ทั้งหมดคือขนาดของเป็นปัญหาหนี้สิน

          ประเด็นที่สาม สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นตัวที่ทำให้สมาชิกเป็นหนี้และมีปัญหาหนี้สินจริงหรือไม่? หากย้อนไปในส่วนแรกๆ ของบทความนี้ ผมได้เท้าความถึงพัฒนาการของหนี้สินในประเทศไทยและชี้ให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินเกิดขึ้นมาก่อนการเกิดขึ้นของขบวนการสหกรณ์ และสหกรณ์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขหนี้สินที่เป็นปัญหา ดังนั้นการที่เห็นหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ด้วยกันตลอดเวลาแล้วเหมาว่าสหกรณ์เป็นตัวสร้างหนี้สินให้เกิดขึ้นกับสมาชิกคงไม่ถูกต้อง

          ที่กล่าวมาจะพออธิบายได้ว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้สมาชิกเป็นหนี้ แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สมาชิกมีปัญหาหนี้สิน? เรื่องนี้คงต้องให้ความเป็นธรรมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย โดยปกติสมาชิกส่วนใหญ่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ใช่ผู้มีฐานะดี จำนวนมากยังมีความเดือดร้อนทางการเงิน ทั้งนี้ด้วยแนวคิดที่เน้นการให้สมาชิกออมเงิน และนำเงินที่ออมได้มาบริหารให้ผู้ที่เดือดร้อนได้กู้ยืมไปใช้ตามความจำเป็น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและสะสมทรัพย์สินได้ตามศักยภาพของแต่ละคน สำหรับเงินกู้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ให้บริการนั้น ส่วนใหญ่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่า และ มีเงื่อนไขการค้ำประกันและการชำระหนี้ที่ผ่อนปรนกว่าแหล่งเงินกู้อื่น

          ดังนั้นสหกรณ์ออมทรัพย์จึงไม่ควรถูกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมาชิกมีปัญหาหนี้สิน
          อย่างไรก็ตามภาครัฐและคนภายนอกอาจมองว่าสหกรณ์ให้วงเงินกู้มากเกินไป ทำให้เงินเดือนเหลือรับหลังจากหักชำระหนี้แล้วของบางคนน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดความเดือนร้อนในการครองชีพได้ สิ่งที่ภาครัฐต้องเข้าใจก็คือสมาชิกแต่ละคนมีครอบครัวซึ่งบางส่วนก็เป็นผู้มีรายได้ที่สามารถนำมาใช้จ่ายในครอบครัวได้ นอกจากนั้นบางส่วนก็มีรายได้เสริมนอกเหนือจากเงินเดือนอีกด้วย อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่าสมาชิกบางส่วนมีการกู้วนซ้ำ (เมื่อชำระหนี้เดินแล้วประมาณ 1-2 เดือน ก็ทำเรื่องกู้ใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมทั้งหมดแล้วเอาส่วนต่างมาใช้จ่าย) ทั้งนี้ การกู้วนซ้ำอาจเกิดจากความจำเป็น หากไม่ทำหรือสหกรณ์ไม่ยอมให้ทำ อาจทำให้คนกลุ่มนี้ต้องหันไปใช้บริการหนี้นอกระบบ

          มีอดีตผู้บริหารสถานศึกษาคนหนึ่งเคยเล่าว่า ช่วงหนึ่งของชีวิต เขาและภรรยาต้องวางแผนการกู้วนซ้ำจากสหกรณ์อยู่หลายปี เนื่องจากในเวลานั้นลูกๆ กำลังเรียนมหาวิทยาลัย มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ถ้าสหกรณ์ไม่ให้กู้วนซ้ำเขาคงต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่อาจทำให้ต้องตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของหนี้นอกระบบอย่างไม่มีวันหลุดพ้น ปัจจุบันลูกๆ เรียนจบหมดแล้ว ทำงานแล้ว และ เขาไม่ได้กู้วนซ้ำอีกแล้ว  
 
          มีคนบอกว่าการพิจารณาว่าสหกรณ์เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาหนี้สินจริงหรือไม่? อาจทำโดย “การตั้งคำถามว่าถ้าไม่มีสหกรณ์แล้วปัญหาหนี้สินของสมาชิกจะหมดไปใช่หรือไม่” ถ้าตอบว่า “ใช่” แสดงว่าสหกรณ์เป็นสาเหตุของปัญหาหนี้สินจริง แต่ถ้าคำตอบว่า “ไม่ใช่” แสดงว่าสหกรณ์ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาหนี้สิน ... “ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงสามารถตอบคำถามนี้ได้ไม่ยากนัก”

          ถึงตรงนี้ ท่านยังคิดว่าสหกรณ์เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาหนี้สินหรือเป็น “คนบาป” ของสังคมไทยอีกหรือไม่?

          นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลว่าหลายสหกรณ์มีบทบาทอย่างชัดเจนในการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับผู้ที่เป็นสมาชิกด้วย ตัวอย่างเช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการสามารถลดภาระดอกเบี้ยให้กับสมาชิกที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งโดยทั่วไปต้องเสียแก่นายทุนเงินกู้นอกระบบในอัตราที่สูงมาก (เช่น ร้อยละ 20 ต่อเดือน) ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการโดยทั่วไปคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ามาก (เช่น ร้อยละ 1 ต่อเดือน) เป็นผลให้แรงงานสามารถพึ่งตนเองและลืมตาอ้าปากได้ และ ที่สำคัญคือทำให้ยืนอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

          นอกจากช่วยแก้ปัญหาหนี้สินแล้ว ยังพบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวนมากได้วางระบบและให้สวัสดิการแบบครบวงจรชีวิตแก่สมาชิก เช่น ดูแลช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลบางส่วนแก่สมาชิกที่เจ็บป่วย ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้สูงอายุ รวมไปถึงบางสหกรณ์กำลังพิจารณาที่จะพัฒนาระบบบำนาญให้แก่สมาชิกอีกด้วย  
 
          ถึงตรงนี้ น่าจะถือได้ว่าสหกรณ์นอกจากจะไม่ใช่ “คนบาป” แล้ว ยังเป็นองค์กรที่มีประโยชน์ หรือ อาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “นักบุญ” ในสังคมไทยได้  
 
 ส่งท้ายก่อนจาก
          จากที่กล่าวมาพอสรุปได้ว่านอกจากไม่ได้เป็น “คนบาป” แล้วยังอาจถือว่าสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “นักบุญ” ของสังคมไทยได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามตามมาว่าถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว “ทำไมวันนี้ภาครัฐถึงได้ออกมาตรการต่างๆ ที่ทำให้ขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์อ่อนแอและหมดคุณค่าลง? ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาหาคำตอบกันต่อไป... แล้วเจอกันครับ