สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

ข่าวกิจกรรม

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
 วันที่ 02 ก.ค. 2563 เวลา 09:04 น.
 1423

UploadImage

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

 
ศาสตราจารย์ พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
 
เป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต มีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
 
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายกสภาสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็ง และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
 
การศึกษา
  • ระดับชั้นเตรียมประถมศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดา
  • วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาเคมี) เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ทรงได้รับรางวัลเรียนดีตลอดระยะเวลา 4 ปีการศึกษา และทรงได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์สาขาอินทรีย์เคมีด้วย
  • ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาเคมีอินทรีย์) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยคะแนนยอดเยี่ยม เมื่อมีพระดำริถึงการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลจึงอนุมัติให้ทรงเข้าศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตได้โดยไม่ต้องผ่านมหาบัณฑิตก่อนทรงศึกษาด้วยพระวิริยะอุตสาหะใฝ่พระทัยในการศึกษาเล่าเรียนเป็นที่ยิ่งทั้งที่มีพระราชกิจในฐานะสมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็ยังเสด็จพระดำเนินไปทรงพระอักษรร่วมกับพระสหายในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอตลอดจนทรงงานในห้องแล็บด้วยพระองค์เองอย่างไม่ทรงท้อถอยแม้จะทรงแพ้สารเคมีก็ตามโดยทรงทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "Part I: Constituents of Boesenbergia pandurata (yellow rhizome) (Zingiberaceae). Part II: Additions of lithio chloromethyl phenyl sulfoxide to aldimines and alpha,beta-unsaturated compounds" และได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2528
  • ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (หลักสูตรแบบไม่มีหน่วยกิตรายวิชา)ในปีการศึกษา 2549 จากผลงานวิจัยเรื่อง "Molecular Genetic Studies and Preliminary Culture Experiments of Scallops Bivalve: Pectinidae) in Thailand"
  • ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาชีวภาพทางสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงวิทยานิพนธ์ เรื่อง “Effect of Morphine and Morphine-Tramadol Infusions in Sevoflurane-Anesthetized Dogs.”
  • Doctor of Philosophy (Toxicology) จาก มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
  • ระดับหลังปริญญาเอก (Post Doctoral) ณ มหาวิทยาลัยอูล์ม ประเทศเยอรมัน เรื่อง Synthesis of Oligonucleotides Using Polymer Support and Their Applications in Genetic Engineering
  • ปัจจุบัน ทรงศึกษาในระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2560

ด้วยทรงตระหนักถึงปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข และความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์ เรื่องการ ขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขโดยเฉพาะ ความต้องการการสนับสนุนเรื่องการศึกษาวิจัยทางวิชาการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุข จึงทรงก่อตั้งกองทุนจุฬาภรณ์ขึ้น และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิจุฬาภรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย
ต่อมาทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ทรงเป็นองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งระดมสติปัญญาของนักวิชาการที่มีศักยภาพและวิทยาการที่ก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และให้การศึกษาและฝึกอบรมอย่างครบวงจร ประกอบกับแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ขยายภารกิจด้านการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาที่มีความต้องการสูงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการเสนอโครงการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2548
และจากการที่ทรงรับเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติ การเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็งด้วยพระองค์เอง ประกอบกับทรงพบว่าประชาชนชาวไทยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มในอัตราที่สูงมากขึ้น จึงทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม และให้เป็นศูนย์วิจัยด้านโรคมะเร็งที่มีความเป็นเลิศทางการวิจัย วิชาการ และการบำบัดรักษา พร้อมทั้งพัฒนาเป็นศูนย์ชำนาญการวินิจฉัยมะเร็งที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค โดยมีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากลรองรับ
นอกจากนี้ ยังทรงจัดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ(Cyclotron and PET Scan) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการในการตรวจโดยสารเภสัชรังสี เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่สามารถติดตาม ตรวจวัด ประเมิน และวิเคราะห์ การทำหน้าที่ของอวัยวะนั้นๆ ในระดับเซลล์เมตาบอลิสม์ ที่สามารถให้รายละเอียดการวินิจฉัยโรคและระยะของโรคได้ดีกว่าการตรวจอย่างอื่น ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โรคทางสมอง และหัวใจ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีพระปณิธานแน่วแน่ในการสร้างเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย และให้ความช่วยเหลือ ฝึกอบรมแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ

นอกจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จะทรงได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว พระองค์ยังทรงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกิจการด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย งานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การจัดการป่าไม้ การจัดการสิ่งแวดล้อม การเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลรวมไปถึงงานส่งเสริมสถานภาพทางสังคมของสตรีไทยอีกด้วย